Thursday, October 25, 2012

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวพุทธ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี
เทศกาลออกพรรษานับจากวันเข้าพรรษา คือวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 เป็นเวลา 3 เดือนเต็ม ที่พระสงฆ์จะต้องจำพรรษาอยู่ ณ วัดใดวัดหนึ่ง ไม่ออกเดินทางไปเหยียบข้าวกล้าในนาให้เสียหายในฤดูฝน และใช้เวลาดังกล่าวศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่าง ๆ จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 จึงได้เวลาออกพรรษา ซึ่งวันพ้นข้อกำหนดดังกล่าวเรียกว่า “วัน ออกพรรษา” เมื่อครบกำหนดการจำพรรษา พระภิกษุก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ ก่อนจะแยกย้ายไปตามสถานที่ต่าง ๆ ในวันนี้จะมีการชุมนุมพระสงฆ์จำนวนมาก และทำพิธีออกวัสสาปวารณา คือ การเปิดโอกาสให้พระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยเมตตาจิต เมื่อได้เห็น ได้ฟัง หรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน วันเข้าพรรษาจึง เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา นั่นเอง
พิธีออกวัสสาปวารณา มีสืบเนื่องมาจากธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งของพุทธสาวกในสมัยพุทธกาลคือ จะพากันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลังจากออกพรรษาหมดฤดูฝน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสถามถึงสิ่งที่พระภิกษุได้ประพฤติปฏิบัติในระหว่างจำ พรรษา ก็ได้ทรงทราบว่า มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งได้ตั้งกติกากันเองว่าจะไม่พูดจากัน ด้วยเกรงว่าเกรงว่าในช่วงจำพรรษาด้วยกันจะเกิดการขัดแย้งทะเลาะวิวาท จนอยู่ไม่สุขตลอดจำพรรษา พระพุทธเจ้าก็ทรงตำหนิว่าการประพฤติดังกล่าวเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ที่พึงมี พึงได้ จึงทรงวางระเบียบวินัยให้เป็นหลักปฏิบัติสืบต่อมาว่า หลังจากที่จำพรรษาครบสามเดือน ในวันออกพรรษาให้ภิกษุทำพิธีออกวัสสาปวารณาแทนการสวดพระปาติโมกข์ คือการเปิดโอกาสให้พระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เมื่อได้เห็น ได้ฟัง หรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน ผู้ว่ากล่าวตักเตือนจะต้องทำด้วยเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ถูกตักเตือนทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือนก็ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ถ้าไม่จริงก็สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลให้กระจ่างได้ แต่หากเป็นจริงตามคำกล่าวตักเตือนก็ต้องปรับปรุงตัวใหม่ โดยทั้งสองฝ่ายต้องคิดว่าทักท้วงตักเตือนเพื่อก่อ และรับฟังเพื่อแก้ไข อันจะสร้างความสมัครสมานสามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์ ตรงกับความมุ่งหมายของการปวารณา
หลักการปวารณาในวันออกพรรษา ยึดความเมตตาต่อกันเป็นที่ตั้ง คือ ถ้าจะติก็ติด้วยความหวังดีไม่ใช่ทำลายอีกฝ่าย ส่วนผู้ถูกติก็ควรรับฟังด้วยดีและมองเห็นความหวังดีของผู้ว่ากล่าว จึงเป็นหลักการที่พุทธศาสนิกชนทุกคนทุกหมู่เหล่า สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี ทั้งในครอบครัว สถานศึกษาหรือในสถานที่ทำงาน
หมายเหตุ: การสวดพระปาติโมกข์หรือ เรียกอีกอย่างว่า ลงอุโบสถกรรม คือ การที่พระสงฆ์สวดสิกขาบท (พระวินัย) 227 ข้อทุกครึ่งเดือนในที่ประชุมสงฆ์ ในที่นี้ มิใช่โอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นการประกาศหลักการอุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนา ของพระพุทธเจ้าเมื่อวันมาฆบูชา
กิจกรรมต่าง ๆ ในเทศกาลออกพรรษาในช่วงเทศกาลออกพรรษา ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการประกอบอาชีพในไร่นา เพราะกำลังรอผลเก็บเกี่ยว อีกทั้งสภาพดินฟ้าอากาศกำลังสดชื่นแจ่มใส เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ชาวบ้านจึงถือเป็นวิถีปฏิบัติ ในการใช้โอกาสนี้มาทำบุญตักบาตรโดยพร้อมเพรียงกัน เกิดเป็นประเพณี ตักบาตรเทโว ซึ่งย่อมาจาก “เทโวโรหนะ” หมายถึง การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จลงจากเทวโลกกลับมายังโลกมนุษย์ หลังจากแสดงธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งตามตำนานเล่าว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วพระองค์ได้เสด็จไปเผยแพร่พระศาสนาในแคว้น ต่างๆ ทรงรำลึกถึงพระพุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายา ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้ 7 วัน จึงทรงดำริที่จะสนองคุณ และได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาและเทวดาทั้งหลายอยู่หนึ่งพรรษา ครั้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน หรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 พระองค์เจ้าจึงได้เสด็จลงมาประทับที่เมืองสังกัสสะ ประชาชนต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรกันอย่างเนืองแน่น ชาวพุทธจึงถือเอาวันนี้เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากเทวโลกมาสู่ เมืองมนุษย์ และนิยมตักบาตรกันเป็นพิเศษ อีกทั้งทำสืบต่อมาเป็นประเพณีที่เรียกว่า “ตักบาตรเทโว” มาจนถึงทุกวันนี้
เล่ากันอีกว่าในวันนี้มีเทวดาจำนวนมากได้ตามส่งเสด็จอย่างสมพระเกียรติ พระพุทธองค์จึงทรงเนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรกมองเห็นกันและกันตลอดทั้ง 3 โลก คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก อีกทั้งในวันนี้การลงโทษในเมืองนรกได้ยุติลงชั่วคราว จึงเรียกวันนี้อีกอย่างว่าเป็นวัน “วันพระเจ้าเปิดโลก
ของทำบุญที่นิยมกันเป็นพิเศษในประเพณีตักบาตรเทโว นอกจากข้าวปลาอาหารธรรมดาแล้วก็มีข้าวต้มมัด หรือเรียกว่าข้าวต้ม ลูกโยน โดยจะเอาข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาว กล่าวกันว่า ที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยนคงเป็นเพราะ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากเทวโลก พระบรมศาสดาถูกห้อมล้อมด้วยมนุษย์และเทวดาจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่เข้าไม่ถึง คิดวิธีใส่บาตรโดยโยนเข้าไปและที่ไว้หางยาวก็เพื่อให้โยนได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งการโยนลักษณะนี้คงเกิดขึ้นภายหลัง มิใช่สมัยพระพุทธองค์จริงๆ และทำให้เป็นนัยยะมากกว่า เพราะปัจจุบันจะใช้การแห่พระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า
จังหวัดที่จัดงานตัก บาตรเทโวอย่างยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ คือ จังหวัดอุทัยธานี นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นแต่ละภูมิภาค ก็จัดกิจกรรมต่าง ๆ ในเทศกาลออกพรรษาสอดคล้องกับวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ท้องถิ่นของตนเอง เช่น การถวาย ต้นดอกผึ้ง หรือ ปราสาทผึ้ง การล่องเรือไฟ เทศกาลออกพรรษาบั้งไฟพญานาคในภาคอีสาน ส่วนในภาคเหนือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีการจัดทำปราสาทจำลอง ที่เรียกว่า จองพารา ภาคใต้มีประเพณีชักพระหรือลากพระทั้งทางบกและทางน้ำ ในหลายจังหวัด เป็นต้น
แนวทางปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนในวันออกพรรษา นอกจากหลักปวารณาที่ได้กล่าวไปแล้ว ตนเอง ครอบครัว ชุมชน สถานที่ทำงานหรือสถานศึกษาควรจะได้ร่วมกันปฏิบัติธรรม และจัดพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ สนทนาธรรม และเจริญภาวนาเพื่อเป็นการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ แจ่มใส อันเป็นมงคลในการดำเนินชีวิต
หลังออกพรรษาแล้ว จะเป็นช่วงเทศกาลกฐิน เป็นเวลา 1 เดือน คือตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12

0 comments:

Post a Comment