Wednesday, April 27, 2011

หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอ รับเงินค่าตอบแทนของผู้เสียหาย

หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอ
รับเงินค่าตอบแทนของผู้เสียหาย
ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายของจำเลย ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา
พ.ศ.2544
โดยที่มาตรา 245 และมาตรา 246 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ได้กำหนดให้ผู้เสียหายในคดีอาญามีสิทฺธิได้รับค่าตอบแทนที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ และจำเลยในคดีอาญามีสิทธิได้รับค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่ายตามสมควร เพื่อให้การรองรับสิทธิดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อมาจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ขึ้น ซึ่งผลของกฎหมายทำให้มี  ผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน         ค่าทดแทนหรือค่าใช้จ่าย 2 ประเภท คือ
1.ผู้เสียหายในคดีอาญา
2.จำเลยในคดีอาญา

ผู้เสียหายในคดีอาญา
ผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. ต้องเป็นผู้เสียหายที่ถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต หรือร่างกาย หรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น เช่น ถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกฆ่า เพื่อชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ หรือถูกข่มขืนกระทำชำเรา เป็นต้น
2. ต้องเป็นผู้เสียหายที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น คือ ไม่ใช่ผู้ที่ก่อให้เกิดหรือสนับสนุนหรือสมัครใจเข้าร่วมในการกระทำความผิด ไม่ได้เป็นผู้ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำความผิด และไม่ได้มีส่วนประมาทด้วย
3. การกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นดังกล่าวต้องเป็นความผิดอาญาดังต่อไปนี้เท่านั้น คือ
- ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ถึงมาตรา 287
- ความผิดต่อชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ถึงมาตรา 294
- ความผิดต่อร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 ถึงมาตรา 300
- ความผิดฐานทำให้แทงลูก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ถึงมาตรา 305
- ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนเจ็บป่วย หรือคนชรา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 306 ถึงมาตรา 308


ค่าตอบแทนผู้เสียหาย 
ค่าตอบแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับ แบ่งเป็น 2 กรณี
     1. กรณีทั่วไป
- ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเท่าที่
จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
- ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ในอัตราวันละ    ไม่เกิน 200 บาท เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
- ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่
คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
   
     2. กรณีถึงแก่ความตาย
- ค่าตอบแทน ตั้งแต่ 30,000 บาท แต่ไม่เกิน
100,000 บาท
- ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท
- ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 30,000 บาท
- ค่าเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการ
เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
ในการพิจารณาค่าตอบแทนดังกล่าว คณะกรรมการพิจารณาจะกำหนดจำนวนเงินค่าตอบแทนที่ผู้เสียหายสมควรได้รับ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด และสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมถึงโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทาง อื่นด้วย
เอกสารที่ผู้เสียหายต้องยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในการขอรับค่าตอบแทน
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัว
เจ้าหน้าที่ของรัฐ (ของผู้เสียหายและผู้มีสิทธิยื่น(
2. สำเนาทะเบียนบ้าน (ของผู้เสียหายและ      
            ผู้มีสิทธิยื่น)
3. สำเนาทะเบียนสมรส
4. สำเนาสูติบัตร
5. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ/สกุล (ถ้ามี)
6. หนังสือมอบอำนาจ
7. ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและอื่นๆ
8. สำเนาใบรับรองแพทย์
9. สำเนาบันทึกรายงานการสอบสวนของ
สถานีตำรวจและสำเนารายงานประจำวัน   
เกี่ยวกับคดี
10.   สำเนาใบมรณบัตร
11.   สำเนาใบชันสูตรแพทย์
12.   หลักฐานการได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากหน่วยงานอื่น
13.   ใบแต่งทนาย (ถ้ามี)
14.   สัญญาจ้างว่าความพร้อมสำเนาบัตรของทนายความ
15.   หนังสือรับรองรายได้
16.   สำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับรองรายได้ (ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ(
17.   สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับรองรายได้
จำเลยในคดีอาญา
จำเลยในคดีอาญา
       เพื่อ เป็นการบรรเทาความเสียหายแก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรจากรัฐ โดยจำเลยที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนตามพระราชบัญญัตินี้ จะมีข้อแตกต่างจากกรณีของผู้เสียหาย คือกรณีของจำเลยจะไม่ได้มีการกำหนดประเภทของความผิดไว้ แต่ต้องเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1. เป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ
2. ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และ
3. ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและมีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี หรือ ปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลย มิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด คือศาลพิสูจน์แน่ชัดโดยปราศจากความสงสัยแล้วว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างแท้จริง

ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายที่จำเลยมีสิทธิได้รับ แบ่งเห็น 2 กรณี
1. กรณีทั่วไป
- ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท หากความเจ็บป่วยของจำเลยนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
- ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท หากความเจ็บป่วยของจำเลยนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี
- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี อัตราวันละไม่เกิน 200 บาท นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ
- ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี ได้แก่
- ค่าทนายความเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินอัตราที่กฎกระทรวงกำหนด
- ค่าใช้จ่ายอื่นในการดำเนินคดีเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
2.กรณีถึงแก่ความตาย
            - ค่าทดแทน จำนวน 100,000 บาท
            - ค่าจัดการศพ จำนวน 20,000 บาท
            - ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท
            - ค่าเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท
ใน การพิจารณาค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายดังกล่าว คณะกรรมการจะพิจารณากำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายที่จำเลยสมควรได้ รับ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ของคดี ความเดือดร้อนที่ได้รับ และโอกาสที่จำเลยจะได้รับการชดเชยความเสียหายจากทางอื่นด้วย

วิธีการยื่นคำขอรับสิทธิ
เอกสารที่จำเลยต้องยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในการขอรับ        ค่าทดแทนและค่าใช้จ่าย
1. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ของจำเลยและผู้มีสิทธิยื่น)
2. สำเนาทะเบียนบ้าน (ของจำเลยและผู้มีสิทธิยื่น)
3. สำเนาทะเบียนสมรส
4. สำเนาสูติบัตร
5. สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ/สกุล
6. หนังสือมอบอำนาจ
7. ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลและอื่นๆ (ถ้ามี)
8. สำเนาใบรับรองแพทย์
9. สำเนาคำสั่งให้ถอนฟ้องหรือสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุด
10.    หมายขังระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา และหมายปล่อย
11.    สำเนาใบมรณบัตร
12.    สำเนาใบชันสูตรแพทย์
13.    ใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นได้ถึงที่สุด
14.    ใบแต่งทนายความ (ถ้ามี)
15.    สัญญาจ้างว่าความพร้อมสำเนาบัตรของทนายความ
16.    หนังสือรับรองรายได้
17.    สำเนาบัตรประจำตัวของผู้รับรองรายได้ (ผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือ)
สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับรองรายได้


วิธีการยื่นคำขอรับสิทธิ
ผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย (กรณีผู้เสียหายหรือจำเลยถึงแก่ความตายไปก่อน) ต้องยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานด้วยตนเองต่อคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ตามแบบที่สำนักงานกำหนด ณ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา อาคาร A ชั้น 2 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0 2141 2847 ถึง 02 141 2862 หรือหรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ในกำหนดเวลาดังนี้
ในกรณีผู้เสียหาย ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ผู้เสียหาย        ได้รู้ถึงการกระทำความผิด
ในกรณีจำเลย ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือวันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด แล้วแต่กรณี
กรณีผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายในคดีอาญาไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเองได้ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล หรือให้ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย แล้วแต่กรณี สามารถยื่นคำขอแทนได้
ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด


หากผู้ใดมีข้อสงสัยว่าตนเองเป็นผู้เสียหายหรือเป็นจำเลยในคดีอาญาที่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่ สามารถสอบถามและขอคำปรึกษาได้ด้วยตนเอง หรือมีหนังสือไปสอบถามได้ที่สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลย     ในคดีอาญา

0 comments:

Post a Comment