Tuesday, June 10, 2014

"ตาม`เภอใจ" สไตล์ หมูหวาน

"ตาม`เภอใจ" สไตล์ หมูหวาน
    ตอนที่ตกลงใจจะมีวารสารของศาลจังหวัดสงขลา  บรรณาธิการบริหาร (จะเป็นท่านไหนหาดูเอาเองจากวารสารฉบับนี้) บังคับว่าต้องมีพื้นที่ให้หมูหวาน ๑ คอลัมภ์  คงเป็นเพราะเห็นว่า   หมูหวานมีคอ(ที่)ล่ำ(สัน)อันเป็นผลมาจากคอหมูย่างของโปรด  และให้มีเนื้อหาตามอำเภอใจ                   (ทำไมต้องเป็นอำเภอ ไม่เป็นหมู่บ้าน  ตำบล หรือจังหวัด)  ก็เลยขอใช้ชื่อคอลัมภ์ว่า  “"ตาม `เภอใจ" สไตล์ หมูหวาน แล้วกัน

    เนื่องจากเป็นเรื่องตาม “เภอใจ” หมูหวานก็ขอเล่าถึงสิ่งที่หมูหวานเองนับแต่ได้ยิน ได้รู้เป็นครั้งแรกก็เหมือนกับได้พบแผนที่ลายแทงที่นำทางหมูหวานในการทำงาน สิ่งนั้นคือยุทธศาสตร์พัฒนาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้แก่หน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  มีผู้ที่ศึกษา ตีความและนำไปใช้หลายรูปแบบ  แต่สำหรับหมูหวานแล้ว  ขอตีความยุทธศาสตร์พระราชทานนี้ตามภูมิปัญญาและเป็นการปรับให้เข้ากับการทำงานของหมูหวานเท่านั้น  จะให้ลึกซึ้งเหมือนกับท่านผู้รู้ทั้งหลายก็คงเป็นไปไม่ได้  ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้  คือสามคำที่แสดงถึงพระอัฉริยะภาพของพระองค์ท่าน  “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”

    “เข้าใจ” สำหรับหมูหวานแล้ว  หมายความว่า  เข้าใจซึ่งกันและกัน  เราต้องเข้าใจเขา  และทำให้เขาเข้าใจเรา  ก็รู้กันอยู่ว่า  ศาล  โรงพัก  โรงพยาบาล  ไม่มีใครอยากจะมาติดต่อ  เมื่อมีคนมาติดต่อสิ่งที่ควรคิดเป็นสิ่งแรกคือ  คนที่มาติดต่อกับเราล้วนแต่เดือดร้อนมาทั้งนั้น  ความเครียดทำให้เขาแสดงกริยาหลายอย่างหลายแบบ  ถูกใจเราบ้างไม่ถูกใจบ้าง  แต่ถ้าเราเข้าใจเขาก็ให้อภัยเขา  ขณะเดียวกันต้องให้เขาเข้าใจเรา  ให้เขารู้ว่าเรายินดีให้บริการไม่ว่าเขาจะเป็นคนผิดหรือไม่ผิด                      หมูหวานเคยถามตัวเองว่าทำไมเวลาเราไปโรงพยาบาล  เราถึงคอยเวลาให้แพทย์เรียกเราเข้าพบได้  คำตอบคือเรารู้เห็นและเข้าใจว่าแพทย์กำลังตรวจคนไข้ที่มาพบก่อนเรา  คำถามคือทำอย่างไงจะให้คนที่มาติดต่อศาลรู้ว่าสิ่งที่เขาต้องการอยู่ในกระบวนการที่จะต้องผ่านขั้นตอนของเจ้าหน้าที่และ                ผู้พิพากษา  แพทย์ผู้ตรวจก็คงเปรียบเทียบได้กับผู้พิพากษาที่จะต้องสั่งคำร้องต่าง ๆ  เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต่างจากพยาบาลที่จะต้องตรวจสอบซักประวัติเรื่องราวของผู้มาติดต่อ  หรือปฏิบัติหลังจากมีคำสั่งของผู้พิพากษา  เหมือนกับพยาบาลที่ทำแผล ฉีดยาตามคำสั่งแพทย์ทั้งสองส่วนนี้คือวัฏจักรของศาลยุติธรรม  ที่จะต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

    “เข้าถึง” สำหรับหมูหวานคือให้เขามีความรู้ในงานของเรา  ทุกวันนี้ศาลยุติธรรมก็มีการเผยแพร่ความรู้เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น  ไม่ว่าทาง website แผ่นพับ จัดเป็นสถานที่ดูงาน  และอีกสารพัดวิธี  กระทั่งเข้าไปให้ความรู้กับนักโทษถึงในเรือนจำ  ก็เพื่อให้ศาลสามารถเข้าถึงได้ง่าย  เรื่องเล็ก ๆ ที่เจ้าหน้าที่หลายคนทำจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ  คือ การอธิบายขั้นตอนการติดต่อให้ผู้มาใช้บริการเข้าใจ  สำหรับหมูหวานแล้ว  สิ่งนี้ส่งผลที่ใหญ่ยิ่งให้ประชาชนเข้าถึง

    “พัฒนา”  ตนเองเพื่อความก้าวหน้าในสายงาน  พัฒนางานเพื่อความเจริญขององค์กร  สำหรับหมูหวานแล้ว  การพัฒนาก็เป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้หรือวิธีการทำงานการอบรมแบบ e-learning หรือการศึกษาต่อ กระทั่งการศึกษาด้วยตนเอง  เป็นสิ่งที่เราไม่อาจละเลยได้
    ก่อนจากขอฝากบทกลอนที่ไปอ่านเจอมา  จำไม่ได้ว่าใครเขียน  มอบให้กับทุกท่านด้วยความปรารถนาดี  พบกันใหม่ฉบับหน้า…

    เหรียญยังมี สองด้าน ทุกท่านเอ๋ย        อย่าหวังเลย ให้เขาเป็น เช่นเราหวัง
เราไม่ชอบ สิ่งใดเล่า เขาก็ชัง            ดันทุรัง ยัดเยียดเขา ก็ “เข้าตัว”