การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ
เดิมก่อนมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในปี ๒๕๔๖ จำเลยที่ถูกลงโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับ จะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือถูกกักขังแทนค่าปรับ ในทางปฏิบัติมีจำเลยที่ศาลพิพากษาให้ลงโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับต้องถูกกักขังแทนค่าปรับเป็นจำนวนมาก ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน และรัฐต้องรับภาระในการดูแลเพิ่มมากขึ้น ต่อมาในปี ๒๕๔๖ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญากำหนดให้ในกรณีที่ศาลพิพากษาปรับผู้กระทำความผิดไม่เกิน ๘๐,๐๐๐ บาท ผู้ต้องโทษปรับอาจจะร้องขอต่อศาลเพื่อทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ได้ นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของจำเลยที่ ถูกลงโทษปรับแต่ไม่มีเงินเสียค่าปรับ ซึ่งวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่แก้ไขครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ผู้ต้องโทษปรับมีโอกาสเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ทดแทนหรือชดใช้ความเสียหายที่ ผู้นั้นก่อขึ้นแก่สังคม และเป็นการลดความแออัดของสถานที่กักขัง ประหยัดงบประมาณของรัฐที่ต้องเลี้ยงดูผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับ
* ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม
ว่าด้วยการกำหนดจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวันและแนวปฏิบัติ ในการให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับและการเปลี่ยนสถานที่กักขัง พ.ศ. 2546
ว่าด้วยการกำหนดจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงานหนึ่งวันและแนวปฏิบัติ ในการให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับและการเปลี่ยนสถานที่กักขัง พ.ศ. 2546
การทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับนั้น เช่น งานทำความสะอาด งานพัฒนาสถานที่สาธารณะ งานปลูกป่า ดูแลสวนป่าหรือสวนสาธารณะ งานจราจร หรืองานให้ความบันเทิงแก่คนพิการ คนชรา เด็กกำพร้า หรือผู้ช่วยในสถานสงเคราะห์หรือสถานพยาบาล งานสอนหนังสือ งานค้นคว้าวิจัย หรือแปลเอกสาร
หลักเกณฑ์การทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับหรือสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับมีดังนี้
๑. ต้องเป็นคดีที่ศาลพิพากษาปรับจำเลยเป็นเงินไม่เกิน ๘๐,๐๐๐ บาท หมายความว่า ในคดีเรื่องนั้นศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยโดยมีโทษปรับรวมอยู่ด้วย เช่น กรณีที่ศาลลงโทษปรับจำเลยสถานเดียว หรือกรณีที่ศาลลงโทษทั้งจำคุกและปรับ แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ และโทษปรับนั้นต้องไม่เกิน ๘๐,๐๐๐ บาท ซึ่งคำนวณจากค่าปรับจากหลังที่ศาลลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลย ๕๐,๐๐๐ บาท กรณีเช่นนี้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอทำงานบริการสังคมได้ และโทษปรับไม่เกิน ๘๐,๐๐๐ บาท ต้องดูทุกข้อหารวมกัน เช่น ศาลปรับกระทงหนึ่ง ๕๐,๐๐๐ บาท อีกกระทงหนึ่ง ๕๐,๐๐๐ บาท ดังนี้ แม้แต่ละกระทงจะไม่เกิน ๘๐,๐๐๐ บาท แต่เมื่อรวมแล้วศาลปรับ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ย่อมไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะทำบริการสังคมแทนค่าปรับ
๒. จำเลยผู้ยื่นคำขอต้องเป็นบุคคลธรรมดา มิใช่นิติบุคคล
๓. จำเลยต้องไม่มีเงินชำระค่าปรับ ถ้าจำเลยมีเงินเพียงพอชำระค่าปรับจะขอทำงานบริการสังคมแทนไม่ได้
ต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้น แม้เป็นโทษปรับตามคำพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลชั้นต้นที่พิพากษาคดีนั้นต้องเป็นผู้สั่งคำร้องในส่วนของแบบคำร้องนั้น จำเลยอาจจะขอได้จากศาลแต่ละแห่ง โดยต้องเขียนตามแบบพิมพ์คำร้อง มีรายละเอียดเกี่ยวกับโทษปรับตามคำพิพากษา และประเภทของงานที่จำเลยประสงค์จะทำในแบบพิมพ์ของศาล คำร้อง บส.๑ และระบุรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติของจำเลยในแบบพิมพ์ (บ.ส.๒) และจำเลยควรจะวาดแผนที่บ้านของตนท้ายแบบพิมพ์เพื่อสะดวกในการติดตาม1
หลักเกณฑ์พิจารณา
ส่วนการที่ศาลจะพิจารณาว่าสมควรอนุญาตให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับหรือไม่ มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
๑. ฐานะการเงินของจำเลย พิจารณาจากรายได้ ทรัพย์สิน ความเป็นอยู่ ภาระหนี้สินต่าง ๆ ว่าจำเลยมีเงินพอเสียค่าปรับขณะยื่นคำร้องหรือไม่
๒. ประวัติของจำเลย พิจารณาว่าจำเลยมีประวัติเคยกระทำความผิดหรือเคยต้องโทษมาก่อนหรือเป็นผู้กระทำความผิดเป็นอาจินต์จนติดเป็นนิสัย รวมทั้งการศึกษา อาชีพ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ ครอบครัว สภาพแวดล้อมและข้อมูลส่วนบุคคล
๓. สภาพความผิด ศาลจะพิจารณาถึงความหนักเบาของข้อหา ความรุนแรงในการกระทำความผิด สภาวะจิตใจ กระทำความผิดโดยเจตนาหรือโดยประมาท ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิด
ระยะเวลาในการทำงานแทนค่าปรับ
ส่วนสภาพความผิดที่ไม่ควรอนุญาตให้ทำงานแทนค่าปรับ เช่น ความผิดตามกฎหมายสถาบันการเงินและตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายศุลกากร การฉ้อโกงประชาชน การค้าหญิงและเด็ก การค้ายาเสพติดหรือฟอกเงิน
เมื่อศาลอนุญาตให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับแล้ว ในส่วนระยะเวลาในการทำงานแทนค่าปรับ จำนวนวันที่ศาลจะสั่งให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์แทนค่าปรับ จะพิจารณาค่าปรับที่ศาลพิพากษาปรับจำเลย โดยถือในอัตรา ๒๐๐ บาทต่อ ๑ วัน คือนำเงินค่าปรับสุทธิมาตั้งหารด้วย ๒๐๐ บาท จะได้จำนวนวันที่จำเลยต้องทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ เช่น ถูกปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท ต้องทำงาน ๕๐ วัน
สำหรับจำนวนชั่วโมงที่ถือเป็นการทำงาน ๑ วันนั้น ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมเรื่องการให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ กำหนดไว้ดังนี้
๑. การทำงานช่วยเหลือ ดูแล อำนวยความสะดวก หรือให้ความบันเทิงแก่คนพิการ คนชรา เด็กกำพร้า หรือผู้ป่วยในสถานสงเคราะห์ หรือสถานพยาบาล งานวิชาการหรืองานบริการด้านการศึกษา จำนวน ๒ ชั่วโมง เป็นการทำงาน ๑ วัน
๒. การทำงานวิชาชีพ งานช่างฝีมือ หรืองานที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น งานช่างฝีมือเครื่องยนต์ ก่อสร้าง คอมพิวเตอร์ หรือวิชาชีพอื่น จำนวน ๓ ชั่วโมง เป็นการทำงาน ๑ วัน
๓. การทำงานบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์อื่นที่ไม่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญ หรืองานอื่น เช่น งานทำความสะอาดหรือพัฒนาสถานที่สาธารณะ งานปลูกป่า หรือดูแลสวนป่า หรือสวนสาธารณะ งานจราจร สำหรับ ๔ ชั่วโมง เป็นการทำงาน ๑ วัน
กรณีที่ระหว่างทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์ จำเลยไม่ประสงค์ทำงานดังกล่าวต่อไป อาจขอเปลี่ยนเป็นรับโทษปรับหรือกักขังแทนค่าปรับได้
นายศุภชัย ฟูจิตร์
No.2/2554
0 comments:
Post a Comment