วิเคราะห์ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
โดย รองศาสตราจารย์ วิรัช วิรัชนิภาวรรณ
อุปสรรคของการพัฒนาประเทศเกิดขึ้นได้ จากหลายสาเหตุ เช่น จากผู้นำรัฐบาล ข้าราชการและประชาชน บทความนี้มุ่งเน้นพิจารณาศึกษาอุปสรรคที่เกิดจากประชาชนเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลักษณะอุปนิสัยบางประการของประชาชนคนไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ 30 ประการ ดังต่อไปนี้
1. เชื่อเรื่องเวรกรรม คนไทยมีความเชื่อมูลฐานในเรื่องเวรกรรม กฎแห่งกรรม หรือสวรรค์นรก โดยเชื่อว่าคนที่มีฐานะและความเป็นอยู่แตกต่างกัน เป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต เช่น คนมีฐานะร่ำรวยมีอำนาจวาสนาเพราะเมื่อชาติก่อนหรือแม้กระทั่งชาตินี้ คนนั้นหรือบิดามารดาของคนนั้นได้สร้างบุญกุศลไว้มาก จึงเกิดมารวยและสบาย ตรงกันข้ามคนที่มีฐานะยากจน เพราะเมื่อชาติก่อนได้สร้างบาปกรรมไว้มาก และทำบุญน้อยจึงเกิดมาลำบากหรือเกิดมาใช้เวรใช้กรรมในชาตินี้ ซึ่งเห็นได้จากถ้อยคำที่ว่า ถ้าคนรวยตายเรียกว่า “สิ้นบุญ” แต่ถ้าคนจนตายเรียกว่า “สิ้นเวรสิ้นกรรม” หรือ "หมดเวรหมดกรรม" เป็นต้น และถ้าหากคนใดไม่เชื่อเรื่องเวรกรรมก็จะถูกห้ามหรือเตือนในทำนองที่ว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" นอกจากนี้แล้ว ถ้าสิ่งใดหาคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ก็จะกล่าวอ้างว่าเป็นเรื่องของสวรรค์นรกบันดาล เช่น ส่วนหนึ่งเห็นได้จากคำว่า "สวรรค์มีตา"
การที่คนไทยเชื่อและยอมรับสภาพความ แตกต่างของคนในเรื่องฐานะและอำนาจนั้น มีส่วนสำคัญทำให้คนไทยที่มีฐานะยากจนและไม่มีอำนาจขาดความกระตือรือร้นในการ พึ่งตนเองหรือพัฒนาฐานะของตนเอง เพราะเชื่อว่าทำอย่างไรก็ไม่มีทางร่ำรวย มีฐานะ มีหน้ามีตาหรือมีชื่อเสียงขึ้นมาได้ สอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “แข่งเรือแข่งแพแข่งได้ แต่แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้” และเมื่อใดก็ตามที่พบอุปสรรค ความยากลำบาก หรือทำสิ่งใดไม่สำเร็จตามใจปรารถนาก็จะเกิดความท้อแท้ใจได้ง่ายพร้อมกับอ้าง ว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ซึ่งอาจเรียกสั้น ๆ ว่า “ดวง” ซ้ำร้ายยังตีความ "สันโดษ" คลาดเคลื่อนอีกด้วย โดยเข้าใจว่าหมายถึง "พอใจในสิ่งที่มี" ทำให้ไม่ดิ้นรนต่อสู้ ไม่กระตือรืนร้น ปล่อยชีวิตไปตามสบาย ทั้ง ๆ ตนเองที่มีความรู้ความสามารถหรือมีศักยภาพที่จะทำงานอื่นได้อีกมาก แต่ไม่ยอมทำ คำว่าสันโดษนั้นน่าจะหมายถึง "ให้พอใจในสิ่งที่มีถ้าสิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้" เช่น คนบางคนเกิดมาพิการ สันโดษสอนให้คน ๆ นั้นพึงพอใจและยอมรับในสิ่งที่มีและเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้นั้น ในเวลาเดียวกัน ก็ควรพยายามหาสิ่งอื่นมาชดเชยหรือทดแทน เช่น มุมานะทำงานให้เป็นผู้ชำนาญในด้านอื่นที่ไม่ต้องใช้คุณสมบัติที่ขาดไปนั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ในบางกรณีคนไทยยังมีอุปนิสัยที่ชอบพูดตอกย้ำต่อไปไม่จบสิ้น เข้าลักษณะ "ถล่มตัวเองให้สะใจ" หรือ "จำในสิ่งที่ควรลืม และลืมในสิ่งที่ควรจำ" ทั้งนี้ เป็นลักษณะของการไม่มุมานะ ไม่พยายามปรับปรุงแก้ไข หรือแม้กระทั่งไม่คิดให้กำลังใจแก่ตนเองในทำนองที่ว่า “พลาดไปประการหนึ่งเป็นครู” "ล้มแล้วรีบลุก" "ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น" "ไม่มีใครสมบูรณ์ที่สุด" (nobody is perfect) หรือ "บางครั้งชนะ บางครั้งแพ้" (sometimes we win, sometimes we lose หรือ we win some, we lose some)
ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ฝังใจอยู่ กับความเชื่อเรื่องเวรกรรมนี้ ทำให้คนไทยปล่อยตัวปล่อยใจไปตามเวรตามกรรม โดยปล่อยตัวตามสบาย ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มุมานะดิ้นรนต่อสู้ ไม่ทะเยอทะยาน และไม่เข้ามาร่วมในกิจกรรมเพื่อสังคม ดังนั้น จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะความรู้ความสามารถของคนไทยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และ คุ้มค่า
2. ถ่อมตัวและยอมรับชนชั้นในสังคม จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่า ก่อนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โครงสร้างของสังคมไทยได้แบ่งเป็น 2 ชนชั้น ชนชั้นแรก คือชนชั้นปกครอง ซึ่งประกอบด้วยเจ้า นาย หรือขุนนาง อีกชนชั้นก็คือ ชนชั้นที่ถูกปกครอง ประกอบด้วยไพร่ คนธรรมดา สามัญชนและชาวนา แม้เวลาจะล่วงเลยมา โครงสร้างชนชั้นในสังคมดังกล่าวยังคงมีให้เห็นแต่อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น ชนชั้นที่ได้เปรียบกับชนชั้นที่เสียเปรียบ หรือชนชั้นร่ำรวยกับชนชั้นยากจน สำหรับชนชั้นปกครองในปัจจุบันก็คือ นักการเมืองระดับสูง ข้าราชการระดับสูง พ่อค้านักธุรกิจนายทุน และคนร่ำรวย ส่วนชนชั้นที่ถูกปกครองคือ คนธรรมดาสามัญ ชาวไร่ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน หรือชาวบ้าน เป็นต้น
การแบ่งคนในสังคมออกเป็น 2 ชนชั้นนี้ มิใช่เป็นเรื่องแปลกหรือน่าเสียหาย เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของสังคมทั่วโลก แต่ส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศคือ การที่คนไทยถ่อมตัวหรือเจียมเนื้อเจียมตัวและยอมรับสภาพที่เป็นผู้ถูกปกครอง ด้วยดีตลอดเวลา เช่น ยอมรับสภาพที่ยากจน พอใจรายได้ที่มีอยู่ ให้ความเคารพเชื่อฟังและยกย่องผู้มีอำนาจอย่างเกินกว่าเหตุ ไม่โต้เถียงโต้แย้งผู้มีอำนาจ ไม่แสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้ง และไม่พัฒนาตนเอง เหล่านี้ย่อมเป็นผลเสียต่อการพัฒนาประเทศมากกว่าผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมี "จิตใจ" ทำนองเดียวกับการเป็นผู้ถูกปกครอง ถึงกับมีคำกล่าวเปรียบเทียบว่า การเลิกทาสเกิดมาช้านานแล้วแต่บางคน "กายเป็นไท แต่ใจเป็นทาส" และถึงแม้ว่าขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมอันดีของไทยได้สอนให้คนไทย "อ่อนโยน แต่อย่าอ่อนแอ" แต่กลับมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ "อ่อนโยนและอ่อนแอ"
ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ถ่อมตัว หรือเจียมเนื้อเจียมตัว ซึ่งบางครั้งแสดงออกในลักษณะที่ "ชอบถล่มตัวเอง" และทำตัวเป็น "ผู้น้อยต้อยต่ำ" อยู่ร่ำไป รวมตลอดทั้งการยอมรับชนชั้นในสังคมประการนี้ ไม่เพียงเพิ่มช่องว่างระหว่างชนชั้นในสังคมให้มากขึ้นเท่านั้น ยังมีส่วนทำให้ผู้มีอำนาจและประชาชนใกล้ชิดกันน้อยลง ผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจที่ขาดคุณธรรมอาจ "เหลิงอำนาจ" และเข้าใจว่าตนเองเป็น "เทวดาเดินดิน"
3. ยึดถือระบบอุปถัมภ์ คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ยึดมั่นในระบบอุปถัมภ์ซึ่งเห็นได้จากความสัมพันธ์ ของคนไทยจะเป็นแบบผู้นำ-ผู้ตาม ลูกพี่-ลูกน้อง หรือผู้ใหญ่-ผู้น้อย ความสัมพันธ์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ดังที่เรียกว่า "ข้าพึ่งเจ้า บ่าวพึ่งนาย" ระบบอุปถัมภ์ ประกอบด้วย กลุ่มอุปถัมภ์ ซึ่งหมายถึงกลุ่มที่มีการจัดลำดับสมาชิกเป็นชั้นลดหลั่นกันไป โดยมีผู้นำคนเดียวและมีผู้ตามหลายคน ผู้นำจะรวมอำนาจไว้ที่ตัวเองและมีฐานะสูงกว่าผู้ตาม ผู้นำสามารถผูกพันยึดเหนี่ยวผู้ตามให้จงรักภักดีอยู่ภายใต้อิทธิพลด้วยการ จัดสรรผลประโยชน์ เช่น เงินทอง ทรัพย์สิน หรืออำนาจให้อย่างถ้วนหน้าแต่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งต่อมาเรียกว่าระบบอุปถัมภ์หรือระบบพวกพ้อง ระบบนี้มีลักษณะสำคัญ
3.1 ผู้อุปถัมภ์ อาจเรียกว่า ผู้นำ ลูกพี่ หรือผู้ใหญ่ มีภาระหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ ดูแล คุ้มครองและปกป้องบริวารของตนซึ่งได้แก่ ผู้ตาม ลูกน้อง หรือผู้น้อย ซึ่งรวมเรียกว่าผู้ถูกอุปถัมภ์ ไม่ว่าผู้ถูกอุปถัมภ์จะถูกหรือผิด ลักษณะเช่นนี้เห็นได้จากในอดีตขุนนางหรือข้าราชการไม่มีเงินเดือนประจำ เหมือนในสมัยปัจจุบัน ดังนั้น จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการรับ “ของกำนัน” จากไพร่ซึ่งเป็นลูกน้องของตน และจากค่าธรรมเนียมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเป็นการตอบแทนต่อของกำนันที่ได้ รับจากไพร่ ข้าราชการแต่ละคนจึงมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่ไพร่ของตนจากรัฐและคนอื่น ๆ และในบางกรณี ข้าราชการจะช่วยให้ไพร่ของตนก้าวหน้าขึ้นไปมีตำแหน่งสูงและมีอำนาจมากขึ้น ด้วย การที่ผู้ใหญ่พิทักษ์ปกป้องผู้น้อยที่กระทำความผิด เห็นได้จากการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่หรือไม่สนใจการร้องเรียน หรือแม้กระทั่งหาทางออกให้ลูกน้อง ไม่ลงโทษอย่างจริงจังเข้มงวด หรือย้ายไปอยู่พื้นที่อื่นซึ่งอาจไปกระทำความผิดเช่นเดิมนี้ในพื้นที่อื่น ต่อไป
3.2 ผู้ถูกอุปถัมภ์หรือผู้น้อยมีภาระหน้าที่ต้องปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ เริ่มจากพยายามแสวงหาผู้ใหญ่ที่มีความสามารถ มีอิทธิพล และมีบารมีไว้สนับสนุนและคุ้มครอง โดยหาช่องทางเข้าไปฝากเนื้อฝากตัว เข้าเป็นพวก และเกาะติดผู้ใหญ่ไว้เพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิต อันเป็นลักษณะของการหวัง "พึ่งใบบุญหรือพึ่งบารมี" การไม่เข้าเป็นพวกเดียวกันกับผู้ใหญ่ อาจถูกมองว่าเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อเข้าไปเป็นพวกพ้องก็ยิ่งทำให้ระบบพวกพ้องมั่นคงและเข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนี้ ลูกน้องต้องคอยติดสอยห้อยตาม เป็นสมุนเป็นบริวาร ปรนนิบัติรับใช้ประดุจบ่าวไพร่ คอยเออออห่อหมก และเป็นลูกขุนพลอยพยักอยู่เสมอ โดยใช้คำพูดที่ว่า "ครับผม ๆ" หรือ "ถูกครับพี่ ดีครับท่าน" รวมทั้งต้องคอยเคารพยกย่อง สรรเสริญเยินยอผู้ใหญ่ และมือไม้อ่อนตลอดเวลา ในลักษณะ “ผู้น้อยค่อยประนมกร” ดังนั้น การที่ผู้น้อยคอยห้อมล้อม ยกย่องสรรเสริญ และเอาอกเอาใจผู้ใหญ่จนเรียกว่าเป็นการ "ก้มหัวให้” เหล่านี้มีส่วนทำให้ผู้น้อยได้รับการแต่งตั้งหรือปูนบำเหน็จรางวัล โดยไม่คำนึงถึงความสามารถหรือผลงานในการปฏิบัติหน้าที่ความเจริญก้าวหน้าใน ชีวิตของผู้น้อยจึงมิได้อยู่ที่ผลงานแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การเป็นพวกเดียวกับผู้ใหญ่ ดังคำกล่าวที่ว่า "ค่าของคนไม่ได้อยู่ที่ผลของงาน แต่อยู่ที่คนของใคร"
ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีสังคมใดอยู่โดยไม่มีพวกพ้องหรือไม่พึ่งพาอาศัยกัน แต่ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ยึดถือระบบอุปถัมภ์ประการนี้ เป็นไปในลักษณะที่มากเกินกว่าความจำเป็นหรือมากเกินกว่าเหตุ จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศทั้งในแง่ของผู้ใหญ่และผู้น้อย กล่าวคือ ในแง่ของผู้ใหญ่ จะทำให้ลืมตัว รวมอำนาจและใช้อำนาจในทางมิชอบได้ง่าย สนใจและปูนบำเหน็จรางวัลให้เฉพาะคนใกลชิด ไม่มีโอกาสใช้คนที่มีความรู้ความสามารถได้มากเท่าที่ควร เกิดระบบเส้นสายหรือการวิ่งเต้น เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม ผู้ที่มีความสามารถแต่ไม่มีเส้นสายจะก้าวหน้าได้ยาก และยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้น้อยกระทำความผิดอีกด้วย เพราะผู้น้อยจะคิดว่าถึงอย่างไรก็มีผู้ใหญ่คอยช่วย มีเส้นสาย มีเกราะคุ้มกัน
ส่วนในแง่ของผู้น้อย ผู้น้อยที่ไม่ประจบสอพลอจะไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้ใหญ่ ผู้น้อยจะเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ท้อแท้ใจ และทำงานไปวันหนึ่ง ๆ อย่างไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ระบบอุปถัมภ์ซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้ใหญ่และ ผู้น้อยได้ก่อให้เกิดความเกรงใจซึ่งโดยปรกติผู้น้อยจะเกรงใจผู้ใหญ่ ความเกรงใจที่ผู้น้อยมีต่อผู้ใหญ่ในบางครั้งก็กลายเป็นอุปสรรคของการพัฒนา ประเทศ เช่น คนไทยเกรงใจผู้มีอำนาจ เช่น นายอำเภอหรือปลัดอำเภอ ไม่แสดงความคิดเห็นตอบโต้ต่อหน้า วางเฉย ไม่ขัดคอ ผู้มีอำนาจจะพูดอย่างไรคนไทยก็จะเป็นผู้ฟัง บางครั้งทำตัวเป็น “ทองไม่รู้ร้อน” การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ผู้น้อยอาจถูกเขม่นและในภายหน้าไม่อาจไปขอความช่วยเหลือหรือพึ่งบารมีได้
4. ไม่ยอมรับคนที่มีอายุเท่ากันหรือต่ำกว่า คนไทยไม่ยอมรับคนที่มีอายุไล่เลี่ยกันหรือต่ำกว่า สืบเนื่องมาจากระบบอุปถัมภ์หรือระบบพวกพ้องที่ติดตรึงอยู่ในจิตใจของคนไทยมา นาน ได้มีส่วนทำให้คนไทยนิยมยกย่องเฉพาะผู้ที่มีอาวุโสกว่าตนเป็นส่วนมาก ส่วนแนวคิดที่ยอมรับคนที่มีอายุเท่ากันหรือต่ำกว่ามีแนวโน้มที่จะปรากฏให้ เห็นในสังคมหรือในประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบเลือกตั้งหรือการเลือกตั้ง โดยถือว่าถ้าผู้ใดได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน แม้จะอายุน้อยก็ถือว่าได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ สังคมหรือประเทศนั้นต้องยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอีกทั้งระบบ เลือกตั้งจะต้องเป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะในเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม การซื้อสิทธิ์ขายเสียงมีน้อย แต่สำหรับสังคมหรือประเทศที่ให้ความสำคัญกับระบบเจ้าขุนมูลนาย ระบบอาวุโส และระบบเลือกตั้งยังคงไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว อุปนิสัยที่ไม่ยอมรับคนที่มีอายุเท่ากันหรือต่ำกว่าก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ ทั่วไป แต่มีข้อยกเว้นในบางกรณี เช่น ถ้าบุคคลนั้นเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่น เด่นชัด และมีฐานะร่ำรวย
ลักษณะอุปนิสัยนี้เป็นอุปสรรคต่อการ พัฒนาประเทศในแง่ที่กำลังความคิดและกำลังกายของทรัพยากรมนุษย์ส่วนหนึ่งไม่ ได้เอามาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ความมีอาวุโสน้อยจะถูกนำมากล่าวอ้างและถูกกีดกันโดยผู้มีอาวุโสมากกว่า
5. พึ่งพาพึ่งพิงคนอื่น คนไทยติดนิสัยต้องคอยพึ่งผู้อื่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยพบกับความผิดหวัง ด้วยเหตุผลที่คนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องพึ่งดินฟ้าอากาศ หาความแน่นอนไม่ได้ บางปีฝนตกมากทำให้นาล่ม บางปีฝนตกน้อยเกิดนาแล้งหรือแม้กระทั่งบางปีดินฟ้าอากาศดีและผลผลิตดี แต่ก็ต้องประสบกับการขายผลผลิตไม่ได้หรือขายได้ราคาต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ พื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกของไทยนับวันจะน้อยลงและสภาพของดินเสื่อมลงในขณะที่ ประชากรเพิ่มมากขึ้น รวมตลอดทั้งการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและการครอบงำของ ผู้มีอำนาจหรือชนชั้นปกครองตลอดมา สภาพเหล่านี้บางครั้งทำให้คนไทยหมดหวังสิ้นหวัง ขาดขวัญและกำลังใจ มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ไม่แน่นอนและเชื่อว่าตนเองไม่อาจกำหนดชะตาชีวิตของ ตนเองและครอบครัวได้ จึงทำให้คนไทยต้องหาหลักประกันที่มั่นคงกว่าหรือเชื่อว่ามั่นคงกว่า ด้วยการไปพึ่งพาพึ่งพิงผู้อื่น และ/หรือ สิ่งอื่นที่มีตัวตน เช่น ผู้อุปถัมภ์และผู้นำ ถึงกับมีคำกล่าวว่า "เชื่อผู้นำ ชาติเจริญ" หรือ "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" สำหรับสิ่งที่ไม่มีตัวตน เช่น ผีสางนางไม้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่เชื่อว่ามีอำนาจเหนือมนุษย์ การที่คนไทยต้องไปพึ่งพิงผู้อุปถัมภ์ที่มีฐานะร่ำรวยและมีอิทธิพลก็มีส่วนดี อยู่บ้าง แต่ในที่สุดคนไทยก็ถูกครอบงำและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้อุปถัมภ์หรือผู้นำ มากขึ้น เช่น การที่คนไทยต้องสร้างความผูกพันกันเป็นการส่วนตัว ก็จะต้องแลกเปลี่ยนและการลงทุนในสิ่งที่ผู้อุปถัมภ์หรือผู้นำเป็นผู้กำหนด
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่คนไทยขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดความคิดริเริ่ม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะถ้าแสดงออกมาแล้ว ผู้อุปถัมภ์หรือผู้นำไม่ชอบก็จะเป็นผลร้ายต่อตัวเองและครอบครัวในภายภาคหน้า คนไทย
6. ไม่รู้จักประมาณ คนไทยมีนิสัยไม่รู้จักประมาณ ต้องการมีหน้ามีตา และพยายามรักษาหน้าตาหรือชื่อเสียงเกียรติยศไว้ เข้าทำนอง "หน้าใหญ่ใจโต" ไม่ต้องการให้ "เสียหน้า" และนิยม "รักษาหน้า" หรือ “ฉิบหายไม่ว่าขออย่าให้เสียหน้า” หรือ "ฉิบหายไม่ว่าต้องการชื่อเสียง" ในบางกรณีบางคนเคยร่ำรวย แต่เมื่อต้องมาอยู่ในสภาพที่ยากจนลง ก็ยังทำตัวฟุ้งเฟ้อเหมือนเดิม ซึ่งเรียกว่า "จมไม่ลง"
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศ ตัวอย่างเช่น ชาวไร่ชาวนาจะยอมขายไร่ขายนา ขายวัวขายควาย หรือยอมไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อจัดงานบวชหรืองานแต่งงาน โดยไม่คำนึงถึงฐานะของตน ไม่ต้องการให้ใครมาดูถูกดูหมิ่นว่าไม่มีปัญญาจัดงานอย่างมีหน้ามีตาให้ทัด เทียมผู้อื่น ผลลัพธ์ก็คือ คนไทยเป็นหนี้เป็นสินมากขึ้น และยิ่งยากจน
7. รักอิสระเสรี คนไทยมีอุปนิสัยที่รักอิสระเสรี รักความเป็นไท ไม่ยอมอยู่ในระเบียบ ดังมีคำกล่าวว่า “ทำได้ตามใจคือคนไทยแท้” อันมีส่วนทำให้คนไทยขาดระเบียบวินัย ไม่ยึดถือระเบียบวินัย ส่งผลให้การพัฒนาประเทศขาดประสิทธิภาพด้วย
8. ไม่ชอบค้าขาย ในอดีตคนไทยเชื่อว่าอาชีพที่ได้รับการยกย่องคือรับราชการ ดังที่มีคำกล่าวกันว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง” คนไทยจึงมีลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ชอบค้าขาย เพราะการค้าขายต้องเอาอกเอาใจลูกค้า การค้าขายจึงตกอยู่ในมือของคนชาติอื่น เช่น จีน และคนอินเดีย การค้าขายมีความเกี่ยวพันกับระบบเศรษฐกิจทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติจนถึง ระดับหมู่บ้าน ถ้าหากการค้าขายของคนไทยไม่เข้มแข็งเพียงพอย่อมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ประเทศ ทุกวันนี้ พ่อค้านักธุรกิจได้เข้ามามีอำนาจและอิทธิพลในประเทศมากขึ้น แต่ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยประการนี้ก็ยังคงมีปรากฏให้เห็น โดยเฉพาะในกลุ่มข้าราชการ
9. เอาตัวรอดและโยนความผิดให้ผู้อื่น คนไทยมีอุปนิสัยเอาตัวรอดซึ่งรวมทั้งการชอบโยนความผิดให้ผู้อื่น เห็นได้จากการชอบหลบเลี่ยงการงานไปวันหนึ่ง ๆ หรือพฤิตกรรมที่เรียกว่า “ขายผ้าเอาหน้ารอด” กระทำตัวเป็นศรีธนญชัย ลื่นไหล ไหลรื่นไปเรื่อย ๆ ทำนอง "ปลาไหล" หรือ "ปลาไหลติดสเก็ต" หรือ "มะกอกสามตะกร้า ปาไม่ถูก" ยิ่งไปกว่านั้น หากกระทำสิ่งใดแล้วล้มเหลวจะโยนความผิดให้ผู้อื่นหรือโทษผู้อื่นแทน ดังคำกล่าวที่ว่า "รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง" หรือ "ดีฝากเมีย เสียฝากเพื่อน" หรือตามตัวอย่างที่ว่า ถ้าตนเองเดินไปชนกระโถนล้ม ก็จะโยนความผิดว่ามีคนวางกระโถนเกะกะขวางทาง ทั้งที่เป็นความผิดของตัวเองที่เดินซุ่มซ่าม
การพัฒนาประเทศจึงหา "เจ้าภาพ" หรือผู้รับผิดชอบที่แท้จริงได้ยาก เพราะอุปนิสัยคนไทยชอบซัดทอดกันหรือโยนกันไปเรื่อย ๆ ตรงกันข้าม ถ้ากระทำสิ่งใดแล้วมีความดีความชอบเกิดขึ้น ก็จะมีคนเป็นจำนวนมากเข้ามาขอรับความดีความชอบนั้น เข้าทำนอง "รับแต่ชอบ ไม่ยอมรับผิด" หรือ "เสนอหน้ารับความชอบ" หรือ "ขอมีเอี่ยวด้วย"
10. ไม่ชอบรวมกลุ่มและขาดการร่วมมือประสานงาน คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ชอบการรวมกลุ่มหรือทำงานแบบทีม แต่ชอบทำงานเดี่ยว ดังที่เรียกกันว่า "ฉายเดี่ยว" (one man show) หรือ "ข้ามาคนเดียว" กล่าวกันว่า คนไทยมีความสามารถเฉพาะตัวสูงมาก โดยความสามารถของคนไทยจะเปี่ยมล้นเมื่อทำงานคนเดียว แต่ถ้าเมื่อใดต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น เมื่อนั้นความสามารถจะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียว ที่เป็นเช่นนี้เพราะเกิดการชิงดีชิงเด่น แย่งกันเก่ง ไม่ยอมให้ใครเกินหน้าเกินตา ไม่ยอมก้มหัวให้กัน อิจฉาริษยาและขัดขวางซึ่งกันและกัน สรุป ถ้ารวมกลุ่มกันเมื่อใดจะเกิดปัญหาหรือความแตกแยกขึ้นไม่ช้าก็เร็ว ตรงกับคำกล่าวที่ว่า “มากหมอมากความ” "รวมกันตายหมู่ แยกกันตายเดี่ยว" หรือ "สามัคคีคือพัง"
การรวมกลุ่มที่มีขึ้นส่วนใหญ่จะเป็น การรวมกลุ่มแบบชั่วคราวและหละหลวมในงานพิธีหรือในงานรื่นเริง เป็นต้นว่า การรวมกลุ่มกันในงานบวช งานสงกรานต์ และการลงแขกหรือขอแรง เมื่องานเสร็จก็เลิกราแยกย้ายกันไป และเป็นที่น่าสังเกตว่าหากมีการรวมกลุ่มเกิดขึ้น กลุ่มของคนไทยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ขาดอุดมการณ์หรือขาดจิตสำนึกของการรวม กลุ่มเพื่อส่วนรวม แต่มุ่งรวมกลุ่มเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก เช่น การรวมกลุ่มตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อหวังกู้เงินยืมเงิน หรือการรวมกลุ่มเพื่อตั้งพรรคการเมือง จะมีลักษณะเป็น "กลุ่มการเมือง" หรือ "กลุ่มกวนเมือง" มากกว่าพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม
ลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ชอบการรวมกลุ่ม ดังกล่าวนี้มีความหมายใกล้เคียงกับมีลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ชอบร่วมมือประสาน งานกับผู้อื่นจึงนำมารวมไว้ด้วยกัน
ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ไม่ชอบรวม กลุ่มและขาดการร่วมมือประสานงานนี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในแง่ ที่การพัฒนาใด ๆ เพื่อสังคมหรือส่วนรวมไม่อาจเกิดขึ้นได้ถ้าไม่มีการรวมกลุ่ม ดังคำกล่าวที่ว่า “ถ้าไม่มีกลุ่ม ก็ไม่มีงานพัฒนา" (no group, no development) และยิ่งการรวมกลุ่มมั่นคงเข้มแข็งมากเพียงใด การพัฒนาประเทศก็ยิ่งเข้มแข็งเป็นเงาตามตัว ในเวลาเดียวกัน การพัฒนาประเทศเป็นงานที่ต้องร่วมมือกันหลาย ๆ ฝ่าย เป็นงานของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ถ้าขาดความร่วมมือประสานงานกันอย่างจริงจังแล้ว ย่อมประสบความสำเร็จได้ยาก เห็นได้จากบ่อยครั้งที่การประสานงาน กลับกลายเป็น "การประสานงา"
11. ขาดการวางแผน คนไทยขาดการวางแผนอย่างเป็นทางการ ชอบมองโลกในแง่ดี โดยไม่เกรงว่าสิ่งใดจะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อมีปัญหาใดเกิดขึ้นก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละครั้งไปตามสถานการณ์ ซึ่งบางครั้งก็เป็นแบบ “สุกเอาเผากิน” ผู้ที่วางแผนในการทำงานจะถูกมองไปว่าเป็นตัวปัญหา คิดมาก หรือวิตกกังวลเกินไป ดังนั้น การทำงานใด ไม่จำเพาะแต่งานพัฒนาเท่านั้น ถ้าขาดการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว จะทำให้การทำงานไม่มีทิศทางไม่รอบคอบ หละหลวม และล้มเหลวได้ง่าย
12. ชอบการพนัน เหล้า และความสนุกสนาน คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่เปรียบได้กับของใช้ติดตัว 3 อย่าง ได้แก่ ถ้วย ขวด และกลอง
ถ้วย หมายถึงลักษณะอุปนิสัยที่ชอบการพนันขันต่อ ถ้วยเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ใช้ในการเล่นการพนัน โดยเฉพาะไฮโล และยังหมายความรวมไปถึงการพนันชนิดอื่นด้วย เป็นต้นว่า ถั่ว ไพ่ กัดปลา ตีไก่ ชนวัว แข่งม้า และมวย กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่าคนไทยชอบการ "เสี่ยงโชค" และชอบ “หวังน้ำบ่อหน้า”
ขวด หมายถึงลักษณะอุปนิสัยที่ชอบดื่มเครื่องดองของเมา ไม่ว่าจะเป็นเหล้า สาโท กระแช่ หรือเบียร์ หรือเครื่องดื่มมึนเมาอื่น โดยเรียกนักดื่มว่า “คอทองแดง” เครื่องดื่มประเภทนี้ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในงานรื่นเริงต่าง ๆ คนไทยนั้นดีใจก็ดื่มเหล้า เสียใจก็ดื่มเหล้า อยู่เฉย ๆ ไม่มีอะไรทำก็ดื่มเหล้า หรือดื่มเหล้าเพียง 2 เวลา คือ เวลาฝนตกกับเวลาฝนไม่ตก การดื่มก็มิใช่เป็นการดื่มพอเป็นพิธีหรือเพื่อสังคม แต่บางครั้งจะดื่มกันจนเมามาย ดังที่เรียกกันหลายอย่างว่า “ดื่มหัวราน้ำ” “ไม่เมาไม่เลิก” หรือ “กินเผื่อหมา” หรือ "จิบนิด ๆ พออาเจียน" เป็นต้น
ส่วนกลอง หมายถึงลักษณะอุปนิสัยที่ชอบสรวลเสเฮฮา ชอบสนุกสนาน รื่นเริง และชอบการเลี้ยงดูกันอย่างเต็มที่ดื่มกินและเที่ยวผู้หญิงด้วย ดังที่เรียกกันว่า “เลี้ยงดูปูเสื่อ” ที่จัดขึ้นในระหว่างญาติสนิทมิตรสหาย ทั้งนี้เพราะคนไทยมองโลกในแง่สวยงาม ชอบเล่นและทำงานไปพร้อมกัน มิใช่งานเป็นงานหรือเล่นเป็นเล่น การมีลักษณะอุปนิสัยที่ชอบสรวลเสเฮฮานี้มีส่วนทำให้คนไทยไม่ตั้งใจประกอบ อาชีพอย่างจริงจัง แต่มุ่งทำงานเพื่อให้พอมีพอกินหรือเพื่อให้อยู่รอดไปในแต่ละวันโดยไม่คิดถึง อนาคตมากนักซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า “ตำข้าวสารกรอกหม้อ”
ลักษณะอุปนิสัยสิ่งเหล่าย่อมเป็น อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการที่คนไทยหลงมัวเมาในอบายมุขซึ่งล้วนมีทุกข์และโทษมากกว่าผลดี และการไม่เอาจริงเอาจังในการทำงาน เพราะใจมัวแต่ไปคิดถึงอบายมุขและความสนุกสนานดังกล่าว อันถือได้ว่าเป็นลักษณะที่ภูมิคุ้มกันสิ่งยั่วเย้าทั้ง 3 อย่างบกพร่อง
13. เกียจคร้าน คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยเกียจคร้าน ขี้เกียจ ชอบความสะดวกสบาย ไม่ชอบทำงานหนัก ขาดความมุมานะ อดทน การทำงานของคนไทยเข้าทำนอง "หลีกเลี่ยงงานหนักคอยสมัครงานสบาย" เมื่อพบปัญหาอุปสรรคก็ท้อถอย ไม่อดทน ไม่ต่อสู่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยจะทำเป็นแข็งขันเฉพาะตอนเริ่มแรกเท่านั้น เรียกว่า "ม้าตีนต้น" หรือ "พวกแผ่วปลาย"
คนไทยจะทำงานเมื่อมีคนคอยคุม ถ้าไม่มีใครคุมก็จะหลบหลีกเข้าทำนอง "แมวไม่อยู่หนูระเริง" การทำงานด้วยความสำนึกในหน้าที่ด้วยจิตใจรักงานมีให้เห็นไม่มากเท่าที่ควร มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ชอบยกเอาหลักธรรมทางพุทธศาสนามากล่าวอ้างเพื่อปกปิด ความเกียจคร้าน โดยเฉพาะสันโดษและมักน้อย ทั้งที่เนื้อแท้ของหลักธรรมดังกล่าวมิได้สั่งสอนเช่นนั้น
การพัฒนาประเทศเป็นงานกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งยังเผชิญกับปัญหาอุปสรรค ความยากลำบาก และต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ถ้าประชาชนไม่ทำงานหนัก ไม่มุมานะ ไม่อดทน ไม่ขยันและไม่มีความเพียรแล้ว ก็ยากที่จะสำเร็จได้
14. ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง คนไทยไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบรักษาสถานภาพเดิม และยังต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่ไปกระทบกระเทือนสถานะและผลประโยชน์ของตน โดยเฉพาะคนไทยในชนบทยังชอบทำอะไรที่สืบต่อกันมาแต่ดั้งเดิม และมีไม่น้อยที่คนภายนอกมองว่างมงาย แต่คนไทยก็ยังทำต่อไปโดยไม่สนใจเหตุผล ไม่ตั้งข้อสงสัย เช่น เห็นกันมานานว่า พ่อแม่ปู่ย่าตายายมีลูกหลานหลายคนก็ทำตามโดยไม่สนใจการวางแผนครอบครัว หรือแม้แต่การประกอบอาชีพทำนาปลูกข้าว พ่อแม่ปู่ย่าตายายทำมาอย่างไรก็จะทำอยู่เช่นเดิมโดยไม่คิดปรับปรุงเปลี่ยน แปลงให้ดีขึ้น
ลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ชอบการเปลี่ยน แปลงและต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจะมีส่วนทำให้การพัฒนาประเทศเป็นไปด้วยความยาก ลำบาก เนื่องจากการรับและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปจะถูกต่อต้าน
15. เห็นแก่ตัวและเอาแต่ได้ คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยเห็นแก่ตัวและเอาแต่ได้ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ชอบเอาเปรียบและกินแรงผู้อื่น ไม่ยอมเสียสละ เสแสร้ง ต่าง ๆ นานาเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ตัวเองมิได้เป็นคน “ยากจน” แต่แสร้งทำตัวเป็นคน “อยากจน” เพื่อจะได้รับสิทธิและผลประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงคนยากจนจริง ๆ หรือในกรณีร่วมแรงร่วมใจกันทำงานยกของหนัก ก็จะแกล้งแสดงออกในลักษณะเสียงดัง เอะอะ ๆ ทำเป็นขะมีขะมันให้ความร่วมมือร่วมแรงอย่างเต็มที่ แต่แท้ที่จริงกลับไม่ยอมออกแรง อันเป็นลักษณะของ "หน้าแดง แรงไม่ออก" เพื่อกินแรงและเอาเปรียบผู้อื่น นอกจากนี้ คนไทยยังไม่ยอมขาดทุน ชอบทุจริตประพฤติมิชอบ กินนอกกินใน กินเล็กกินน้อย และทำอะไรจะหวังสิ่งตอบแทนเสมอ เมื่อไม่ได้ก็พร้อมที่จะตัดความสัมพันธ์ได้ตลอดเวลา ในเวลาเดียวกัน คนไทยยังมีนิสัยเฉโก คือฉลาดแกมโกง และนักวิชาการบางคนถึงกับกล่าวว่า คนไทยมีนิสัย “ขี้ขโมย” อีกด้วย
ดังนั้น การพัฒนาประเทศจึงเป็นไปอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย การรั่วไหลมีตลอดทางและตลอดเวลาถึงกับบางคนกล่าวเปรียบเทียบไว้ในอดีตว่า เงินที่รัฐบาลอนุมัติให้ใช้สำหรับการพัฒนาประเทศ เริ่มแรกเมื่ออยู่ในคลังที่ส่วนกลางมีเต็มจำนวน แต่เมื่อมาถึงประชาชนจะเหลือไม่เต็มจำนวน ขาดหายไประหว่างทางมากโดยกล่าวว่า เงินงบประมาณดังกล่าวเปรียบเสมือนไอศกรีมแท่ง เมื่อเอาออกจากตู้แช่แข็งหรือตู้เย็นจะมีอยู่เต็มแท่งดี แต่ระหว่างทางผ่านรัฐมนตรีประจำกระทรวงและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเลขานุการ ทำให้ไอศกรีมละลายไปบางส่วน พอผ่านข้าราชการประจำในส่วนกลาง เช่น ปลัดกระทรวง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ยิ่งละลายหายไปอีก เมื่อมาถึงส่วนภูมิภาคเข้าจังหวัด ผ่านข้าราชการในจังหวัดและอำเภอ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ประกอบกับอากาศร้อนอบอ้าวมาก ไอศกรีมก็ยิ่งละลายเร็วขึ้น ไอสกรีมจะถูกส่งลงไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในระดับตำบล และหมู่บ้านโดยอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของนายอำเภอและปลัดอำเภอ ไอศกรีมก็ยังคงละลายอยู่เช่นเดิมแม้ไอศกรีมจะตกไปถึงมือของหน่วยการปกครอง ท้องถิ่น และท้ายที่สุดไอศกรีมก็จะตกไปถึงมือประชาชนซึ่งบางครั้งเหลือแต่ไม้ไอศกรีม ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่เห็นแก่ตัวและเอาแต่ได้ประการนี้เป็นอุปสรรคของ การพัฒนาประเทศเนื่องจากงบประมาณที่ส่งไปนั้น รั่วไหลและหายไประหว่างทางมากมาย ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและประเทศชาติเสียหาย ถาวรวัตถุต่าง ๆ เช่น ถนน ฝาย บ่อน้ำ ที่สร้างขึ้นจะไม่ได้มาตรฐานไม่มั่นคงถาวร ทั้งนี้เพราะการมีอุปนิสัยที่เอาแต่ได้หรือการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่า ส่วนรวม
16. ลืมง่าย คนไทยมีอุปนิสัยลืมง่าย ให้อภัยง่าย และเห็นอกเห็นใจ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาในเรื่องเมตตากรุณา
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ว่า เมื่อมีผู้กระทำความผิด โกงชาติบ้านเมือง คนไทยก็ไม่จดจำและไม่นำมาเป็นบทเรียน ไม่ต่อต้านอย่างจริงจังและต่อเนื่อง กลับให้อภัยหรือยกโทษให้ ดังนั้น ผู้กระทำความผิดก็อาจหวนกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก
17. ชอบอภิสิทธิ์ คนไทยมีนิสัยชอบอภิสิทธิ์ สิทธิพิเศษ มีเส้นสาย ผู้ใดมีหรือได้รับอภิสิทธิ์จะรู้สึกภาคภูมิใจว่าเก่งกว่าเหนือกว่าผู้อื่น เช่น การไปติดต่อราชการ ถ้ามีข้าราชการคนใดมาต้อนรับหรือให้บริการเป็นพิเศษเหนือกว่าประชาชนทั่วไป นอกจากทำให้ตนเองได้รับบริการที่ลัดคิวและรวดเร็วกว่าคนอื่นแล้ว ยังรู้สึกภาคภูมิใจอีกด้วย
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้ได้สร้างความ เหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น คนรวยหรือผู้มีฐานะที่มีอภิสิทธิ์ ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศมากกว่าคนจน ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมีให้เห็นชัดเจนขึ้น
18. ฟุ่มเฟือย คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่ประหยัดและอดออม บางคนทำตัวเป็นพวก “คอสูง” หรือ “รสนิยมสูง แต่รายได้ต่ำ”
ลักษณะอุปนิสัยนี้เป็นอุปสรรคต่อการ พัฒนาประเทศในแง่ที่คนไทยยิ่งยากจนมากขึ้นเนื่องจากเป็นหนี้มากขึ้น เพราะนิยมใช้สินค้าที่ใช้นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น อาหารและเสื้อผ้าราคาแพง ก็ยิ่งทำให้ประเทศชาติและประชาชนเป็นหนี้มากขึ้น
19. ไม่รู้แพ้รู้ชนะ ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ไม่รู้จักแพ้ชนะปรากฏให้เห็นทั่วไป โดยเฉพาะในการแข่งขันกีฬา ผู้ได้รับชัยชนะอาจ “กระพือปีก” เยอะเย้ย หรือเย้ยหยัน ดูถูกผู้แพ้ ส่วนผู้แพ้จะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ ไม่มีน้ำใจเป็นนักกีฬา เข้าทำนอง “กีฬาแพ้คนไม่แพ้” บางครั้งหาหนทาง “แก้เผ็ด” โดยถือว่า “วันพระไม่ได้มีหนเดียว”
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายหมกมุ่นอยู่กับการแก้ แค้นกันในเรื่องส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ทำให้เกิดความวุ่นวาย เสียเวลา และแตกความสามัคคี
20. ไม่ยกย่องผู้หญิง คนไทยมีอุปนิสัยที่ไม่ยกย่องผู้หญิงมากเท่าที่ควร ทั้งที่ผู้หญิงในประเทศไทยมีไม่น้อยกว่าผู้ชาย แต่คนไทยยกย่องผู้ชาย เห็นได้จากผู้นำในทุกระดับส่วนมากจะเป็นผู้ชาย อีกทั้งการส่งเสริมบุคคลให้เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญก็จะเป็นการส่งเสริมผู้ชาย เป็นหลัก
อุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นหญิงเป็นจำนวนมากไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
21. มีจิตใจคับแคบ ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยประการนี้ครอบคลุมถึงการมองโลกในแง่ร้าย หวาดระแวง วิตกกังวลเกินกว่าเหตุ รวมตลอดทั้งการเห็นแก่ตัว สกัดกั้น กีดกัน หรือกันท่าผู้อื่นด้วยเกรงว่าจะเด่นกว่าดีกว่าตนเองด้วย เข้าทำนอง ”ไม่มีใครอยากเห็น เราเด่นเกิน” เป็นลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับการโต้แย้งหรือคำตำหนิติเตียนจากผู้อื่น ถ้าหากมีขึ้นก็จะโกรธและผูกใจเจ็บ บ่อยครั้งที่การรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงการ “ได้ยิน” และ "ฟัง" เข้าหูพอเป็นพิธีเท่านั้น มิได้ถือเป็นเรื่องจริงจังและให้ความสำคัญมาก ฉะนั้นการรับฟังดังกล่าวนี้จึงเหมือนกับการ “ได้ยิน” แต่ไม่สนใจเท่านั้น นอกจากนี้การออกปากให้ความช่วยเหลือหรือพูดว่าสนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นการ ช่วยเหลือสนับสนุนแต่ปากเท่านั้น
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และไม่มีใครอยากเข้ามาร่วมทำงานกับผู้ที่มีจิตใจคับแคบหรือเห็นแก่ตัว
22. ชอบสร้างอิทธิพล คนไทยมีอุปนิสัยที่ชอบสร้างอิทธิพล สร้างอาณาจักร และชอบแสดงความเป็นเจ้าของ ลักษณะอุปนิสัยเช่นนี้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในส่วนที่ความคิดและวิธีการในการพัฒนาประเทศถูกผูกขาดเฉพาะกลุ่มและ เพื่อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์ ความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นได้ยาก ทั้งยังขัดกับหลักประชาธิปไตยและหลักพุทธศาสนาที่ไม่สนับสนุนให้สะสมมากจน เกินพอความจำเป็น
23. ชอบประนีประนอม คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ชอบการประนีประนอม ชอบการผสมกลมกลืน เป็นลักษณะที่แสดงถึงการ "พบกันครึ่งทาง" "แทงกั๊ก" หรือ “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” ลักษณะอุปนิสัยเช่นนี้ทำให้คนไทยสามารถปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ทุกยุคทุกสมัย ประดุจน้ำที่สามารถแปรไปตามลักษณะของภาชนะต่าง ๆ ได้ง่าย กล่าวคือ ถ้านำน้ำไปเทใส่ในถาดสี่เหลี่ยมหรือถาดกลม น้ำก็จะมีลักษณะเป็นไปตามลักษณะของถาดสี่เหลี่ยนหรือถาดกลมนั้น
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่การพัฒนาประเทศหรือการพัฒนาใด ๆ จะไม่ได้ผลอย่างชัดเจน ถ้าตราบใดที่อุปนิสัยของคนไทยยังเวียนว่ายอยู่กับความเป็นกลาง พ่อค้าคนกลาง หรือผู้นำที่เป็นกลาง หรือแทงกั๊ก พบกันครึ่งทางตลอดมา ตราบนั้นผลของการพัฒนาก็จะออกมากลาง ๆ ไม่ดีเด่น เป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันต่อเหตุการณ์ และได้ผลไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ได้ผลเพียงครึ่งเดียว ไม่ท้าทาย ไม่กล้าได้กล้าเสีย และไม่กล้าเสี่ยง
24. ไม่ตรงต่อเวลา เป็นลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ให้ความสำคัญกับเวลา การไม่ตรงต่อเวลา การผลัดผ่อนเรื่องเวลา ไม่ห่วงเวลาในรายละเอียดเป็นชั่วโมงเป็นนาที เพียงแค่ดูแดดก็รู้ว่าบ่ายหรือเช้า ดูดาวก็รู้ว่าค่ำรุ่งแค่ไหน ซึ่งก็เพียงพอแล้ว ลักษณะอุปนิสัยประการนี้อาจมาจากความเชื่อที่ยึดถือตนเองเป็นหลัก ส่วนเวลาไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่เพียงเท่านั้นอาจมองไปได้อีกว่า คนที่มาสายไม่ตรงเวลา ถือว่าเป็นคนใหญ่โตมีอำนาจ เพราะแม้มาผิดเวลาก็ยังมีคนรออยู่เช่นเดิม เช่น การมาสายของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้หญิงบางคน เพราะรู้ดีว่าถึงอย่างไรชาวบ้านหรือผู้ชายก็ยังคงรออยู่ เป็นอาทิ
ลักษณะอุปนิสัยที่ไม่ตรงต่อเวลานี้ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่มีอุปนิสัยประการนี้จะไม่ได้รับความเชื่อถือ ขาดไว้วางใจ และถูกมองว่าเป็นคนขาดความรับผิดชอบ การนัดหมายหรือกำหนดเป้าหมายร่วมกันกับผู้อื่น จะคลาดเคลื่อนไปหมด
25. ไม่รักษาสาธารณสมบัติ เป็นลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ไม่สนใจทำนุบำรุงหรือรักษาของส่วนรวม และไม่ยึดถือหลักที่ว่า สาธารณะสมบัติแม้ไม่ใช่สิ่งของส่วนตัว แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรช่วยกันรักษา ถ้าไม่ช่วยรักษาก็ไม่ควรทำลาย ที่ผ่านมามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ทำลายสาธารณะสมบัติทั้งที่ไม่ตั้งใจและไม่ ตั้งใจ เช่น ทำลายโทรศัพท์สาธารณะ สลักชื่อไว้ตามกำแพงวัด และทิ้งขยะมูลฝอยลงในแหล่งน้ำ
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้ทำให้เสียหาย ต่อการพัฒนาประเทศ เห็นตัวอย่างได้จาก สาธารณะสมบัติที่สร้างขึ้นจะอยู่ได้ไม่นาน ทำให้เปลืองงบประมาณและแรงงานที่ต้องมามาใช้ในการซ่อมแซมหรือสร้างใหม่ อีกทั้งเป็นการที่ทำให้ผู้อื่นหมดโอกาสที่จะได้ใช้สาธารณะสมบัตินั้นไปด้วย
26. ชอบพูดมากกว่าทำ เป็นลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่ชอบพูดมากกว่าทำ ซึ่งครอบคลุมทั้งการชอบพูดมากกว่าเขียน และชอบติเพื่อทำลาย ตัวอย่างลักษณะอุปนิสัยประการนี้เห็นได้จากการประชุมปรึกษาหารือกัน โดยการประชุมจะเป็นการพูดหรือคุยหรือการระบายอารมณ์กัน ปะทะคารมกัน พูดไม่รู้จักจบ เข้าทำนอง “ผีเจาะปาก” แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องการแบ่งงานกันทำจะมีคนช่วยทำน้อยมาก ขณะเดียวกัน จะมี "การติติงเพื่อทำลาย" หรือใช้เหตุผลส่วนตัวมากกว่า “ติเพื่อก่อ” หรือเพื่อสร้างสรร และขณะที่ตินั้นก็มิได้มีข้อเสนอที่ดีกว่าขึ้นมาแทน เข้าทำนอง ขอให้ได้ติ หรือ “ค้านลูกเดียว”
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศ ทำให้ผู้ที่ทำงานจริง ๆ หมดกำลังใจ ไม่คิดที่จะติดต่อร่วมมือทำงานด้วย และปลีกตัวออกห่าง การพัฒนาประเทศจะไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ถ้ามีนักพูดหรือนักช่างพูดเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ใช่นักปฏิบัติหรือทำงานไม่เป็น นักช่างพูดดังกล่าวจะอาศัยความสามารถในการพูดเก่งซึ่งเป็นปมเด่นของตนเพื่อ ก้าวไปสู่ตำแหน่ง
27. ยกย่องวัตถุ หรือเรียกว่า วัตถุนิยม เป็นลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่นิยมเงินตรา โดยถือว่า “เงินคือพระเจ้า” หรือเชื่อว่า “เหล็กที่แข็ง ง้างด้วยเงินอ่อนทันใด” รวมทั้งการยกย่องและคบหาสมาคมกับคนที่มีฐานะร่ำรวย โดยไม่สนใจว่าความร่ำรวยได้มาจากความสุจริตหรือไม่ ดังคำกล่าวว่า "มีเงินเป็นน้อง มีทองเป็นพี่" นอกจากนี้ ยังเป็นอุปนิสัยที่นิยมวัตถุหรือของใช้ที่ฟุ่มเฟือย เช่น คนในชนบทชอบใช้สินค้าจากในเมือง ส่วนคนในเมืองชอบใช้สินค้าจากต่างประเทศ และประกวดประชันความร่ำรวยกันด้วยจำนวนเงิน ที่ดินทรัพย์สิน หรือการแต่งกาย
ลักษณะอุปนิสัยนี้เป็นอุปสรรคต่อการ พัฒนาประเทศเพราะถ้าการพัฒนาประเทศมุ่งเน้นด้านวัตถุและละเลยการพัฒนาด้าน จิตใจ เช่น พัฒนาด้านการศึกษา คุณธรรม และจริยธรรม ย่อมทำให้คนไทยแล้งน้ำใจ ขาดน้ำใจ หรือขาดจิตใจเสียสละเพื่อส่วนรวม แต่ต้องตกเป็นทาสของเงินตราและวัตถุมากขึ้นตามแนวทางของทุนนิยม และยังเป็นหนี้ต่างชาติอีกด้วย
28. ชอบของฟรี เป็นลักษณะอุปนิสัยของคนที่ชอบสิ่งจูงใจหรือชอบของฟรีของแถม ชอบการรอรับหรือการสงเคราะห์โดยไม่ยอมพึ่งตนเอง
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศในแง่ที่ทำให้คนไทยทำสิ่งใดเพราะหวังสิ่งตอบแทนเท่านั้น ถ้าไม่มีการแจกการแถมหรือไม่มีของฟรีก็จะไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ร่วมมืออย่างเต็มที่ เช่นนี้ขัดกับหลักการพัฒนาประเทศที่มุ่งเน้นในเรื่องการทำงานด้วยจิตสำนึก เพื่อส่วนรวมและการเสียสละ
29. สอดรู้สอดเห็น คนไทยมีลักษณะอุปนิสัยที่ชอบสอดรู้สอดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องไร้สาระหรือเรื่องส่วนตัวของผู้อื่น ดังที่มีคำว่า “ไทยมุง” เกิดขึ้นมานาน นอกจากนี้ เมื่อใดที่มีประกาศการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง สิ่งที่คนไทยสนใจก็คือดูว่าตัวเองได้เลื่อนตำแหน่งกี่ขั้น แล้วก็จะดูของเพื่อนฝูงหรือของศัตรูว่าได้กี่ขั้น ถ้าได้น้อยกว่าตัวเองก็จะรู้สึกสะใจ สมน้ำหน้าเพื่อน แต่ถ้าตัวเองได้เลื่อนขั้นน้อยกว่าก็จะแสดงความไม่พอใจ บางคนถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นต้น
ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นอุปสรรค ต่อการพัฒนาประเทศ โดยเป็นรากฐานของการอิจฉาริษยากัน ทำให้จิตใจไม่สงบ และย่อมส่งผลการทำงาน เสียเวลาทำงานหรือนำเวลาไปใช้ในเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร
30. ขาดจิตสำนึกและอุดมการณ์เพื่อชาติบ้านเมือง เป็นลักษณะอุปนิสัยของคนไทยที่คิดเฉพาะความอยู่รอดของตนเองเท่านั้นโดยไม่ คิดถึงชาติบ้านเมือง โดยคิดอยู่เสมอว่า "ประเทศชาติ ไม่ใช่ของเขาคนเดียว" เมื่อทำกิจการใดจะคิด "มุ่งแสวงหากำไรเกินควร" หรือกำไรสูงสุดเสมอ และแม้เป็นเศรษฐี เมื่อประชุมกันครั้งใดก็คิดแต่จะเอาเปรียบขูดรีดคนยากจน ในทำนองที่ว่า "ไม่มีน้ำตาของคนยากจน ในที่ประชุมของเศรษฐี" ลักษณะอุปนิสัยประการนี้เป็นลักษณะของ "กาฝากสังคม" หรือ "ปลิงดูดเลือดสังคม" คนไทยผู้ใดขาดจิตสำนึกและอุดมการณ์ดังกล่าวนี้ จะมีพฤติกรรมในลักษณะดังนี้ โกงชาติโกงแผ่นดิน ฉ้อราษฎร์บังหลวง ค้ากำไรเกินควร ขูดรีดประชาชน ค้ายาเสพติด ค้าของหนีภาษี หรือค้ามนุษย์ เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้ตรงข้ามกับลักษณะของ "มนุษย์พันธุ์ใหม่ที่สังคมไทยปรารถนา" นั่นก็คือ "ลูกผู้ชายหรือลูกผู้หญิงตัวจริงที่มีจิตสำนึกและอุดมการณ์ที่เสียสละและทำ ประโยชน์เพื่อชาติบ้านเมือง"
ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยประการนี้เป็น อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศเพราะทำให้การทำงานใด ๆ จะมุ่งไปที่ประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น ไม่คิดถึงประโยชน์ของส่วนรวม จะนิ่งเฉยหรือเมินเฉยต่อความทุกข์ยากของประชาชนส่วนรวมและประเทศชาติ
สรุป
การพัฒนาประเทศไม่ประสบความสำเร็จ เท่าที่ควร ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจลักษณะอุปนิสัยของคนไทยว่ามีบางส่วนที่เป็น อุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ และที่ยังไม่มีการแยกแยะอธิบายให้เห็นอย่างชัดเจน ลักษณะอุปนิสัยทั้ง 30 ประการข้างต้นนี้ แม้จะมีอยู่ในคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองและในชนบท แต่ไม่ปรากฏให้เห็นในคนไทยทุกคนทุกเวลาหรือทุกสถานที่ การปรากฏอาจชัดเจนหรือไม่ชัดเจนก็ได้ ลักษณะอุปนิสัยบางประการอาจใกล้เคียงกันหรืออาจขัดกันก็ได้เช่นกัน การจัดแบ่งลักษณะอุปนิสัยของคนไทยอาจมีมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาศึกษาของผู้เขียนแต่ละคน อย่างไรก็ตาม อุปนิสัยเหล่านี้น่าจะมากเพียงพอที่จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนและการ กระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและส่งผลถึงการพัฒนาประเทศได้
อาจปฏิเสธได้ยากถ้ามีผู้ใดกล่าวว่า ลักษณะอุปนิสัยของคนไทยในบทความนี้เป็นการพิจารณาศึกษาเฉพาะในแง่ลบเท่านั้น ยังมีลักษณะอุปนิสัยของคนไทยในแง่บวกจำนวนมากมายทำไมไม่นำมาเขียนไว้ด้วย เช่นนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดความวิตกกังวลไปได้ว่าผู้อ่านที่เป็นคนไทยด้วยกันจะไม่ เข้าใจเจตนาของการเขียนครั้งนี้ ในการเขียนบทความนี้ผู้เขียนได้ระลึกอยู่ 2 ประการ ประการแรก การพิจารณาศึกษาลักษณะอุปนิสัยในแง่ลบข้างต้นสามารถนำไปเป็นแนวทางในการ สร้างหรือสนับสนุนลักษณะอุปนิสัยในแง่บวกเพื่อนำไปต่อต้านถ่วงดุลกับลักษณะ อุปนิสัยในแง่ลบได้ อีกประการหนึ่ง การพิจารณาศึกษาและเรียนรู้ให้เข้าใจลักษณะอุปนิสัยของคนไทยอื่น ๆ ให้มากที่สุดเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศและพัฒนาคนดังที่ได้ทำในบทความ นี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าจะให้ความสำคัญและน่าวิตกกังวลมากกว่าเรื่องที่ผู้อ่าน บางคนไม่เข้าใจ สมดังคำกล่าวของขงจื๊อที่ว่า “จงอย่าวิตกกังวลว่าผู้อื่นจะไม่เข้าใจท่าน แต่จงวิตกกังวลว่าท่านเข้าใจผู้อื่นมากน้อยเพียงใด”
0 comments:
Post a Comment