Wednesday, October 10, 2012

วันตรุษจีน

ตรุษจีน ปีกระต่าย 2554 2010 happy new year chinese
วันตรุษจีน
โดยปกติวันตรุษจีน จะมีวันที่เกี่ยวข้อง และติดกัน 3 วัน คือ

1. วันจ่าย คือ วันสำหรับออกไปจับจ่ายอาหาร ผลไม้ และเครื่องเซ่น มาเตรียมไว้ 
2. วันไหว้ คือ วันที่ทำพิธีไหว้เจ้า เป็นวันสิ้นปีของจีน
3. วันตรุษจีน หรือ วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเที่ยว หรือ วันถือ คือ วันตรุษจีน

 

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้

               


     เทศกาลตรุษจีน เป็น เทศกาลที่สำคัญที่สุดของชาวจีน (รวมถึงอาตี๋อาหมวยในเมืองไทยทั้งรุ่นเล็กถึงรุ่นใหญ่) เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฎิทินจีน ในปีนี้ตรงกับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ทุกคนต่างให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่างหยุดงาน โรงเรียน สถาบันการศึกษาต่างก็ปิดเทอมในช่วงนี้ ผู้คนต่างๆ ก็มีการตระเตรียมงานปีใหม่ ทุกๆ บ้านก็จะทำความสะอาดบ้านเรือน (ให้สดใสซาบซ่า)

     ร้านค้า-ห้างสรรพสินค้าต่างก็เต็มไปด้วยผู้คนมาจับจ่ายใช้สอย ซื้อเสื้อผ้าใหม่ให้กับเด็กๆ
 และของขวัญ-บัตรอวยพร ให้แก่ญาติสนิทมิตรสหาย

     ในตลาดก็เติมเต็มไปด้วยผู้คน เดินไปเดินมากันขวักไขว่ ซื้อปลาบ้างล่ะ เนื้อเป็ดไก่บ้างล่ะ ทุกคนต่างดูแจ่มใสมีความสุขช่วงเทศกาลปีใหม่ เด็กๆ และผู้คนจะมีความสุขมาก ได้สวมเสื้อผ้าใหม่ ในเทศกาลตรุษจีน อย่างรื่นเริงบันเทิงใจ

     
     คืน ก่อนวันปีใหม่ คือ วันสุดท้ายของปีนั่นเอง และเป็นคืนที่สนุกสนานครึกครื้นที่สุด ใครที่ไปทำงานห่างจากบ้านเกิด ต่างก็กลับมาฉลองวันปีใหม่ที่บ้าน ทุกคนในครอบครัวต่างนั่งกันพร้อมหน้าล้อมโต๊ะรับประทานอาหาร ในบ้านเต็มไปด้วยรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ พอถึงเที่ยงคืน คนจีนทางเหนือก็จะเริ่มทำเกี๊ยว คนจีนทางใต้ ก็จะปั้นลูกอี๋ต่างก็ทำไป ชิมไป บ่นไป (อันนี้ไม่รู้ว่าผิดตามพจนานุกรม หรือเปล่า..) ครึกครื้นอย่างยิ่ง และในวันรุ่งขึ้น ทุกคนจะตื่นแต่เช้า เพื่อเยี่ยมเพื่อนบ้าน-เพื่อนฝูง อวยพรปีใหม่กัน
ประวัติวันตรุษจีน
     วันตรุษ จีนนั้น ย่อมมีพิธีกรรม และร่องรอยของประเพณี ความเป็นมานานกว่าศตวรรษ แต่ไม่อาจจะบอกได้ว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และวันตรุษจีนเป็นการฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ โดยจะมีการเตรียมหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, อาหาร, เสื้อผ้า และสิ่งของต่างๆ การทำความสะอาดบ้านเรือนครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน ตั้งแต่บน-ล่าง (บน ล่าง กลาง เท๊า อ้าว! เลี๊ยบตุ่ยนี่หว่า) หน้าบ้าน-ท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึง การกวาดเอาโชคร้ายออกไป และประตูหน้าต่างมีการทำความสะอาด ทาสีใหม่ ประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่าง เช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย รุ่งเรือง และอายุยืน เป็นต้น
     วัน ก่อนวันตรุษจีนนั้นเป็นวันแห่งการการรอคอย จะว่าไปถือเป็นวันที่น่าตื่นเต้นมากที่สุด จะได้เห็น ประเพณี และพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่อาหาร-เสื้อผ้า ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆ กัน เช่น

-กุ้ง หมายถึง ชีวิตที่รุ่งเรือง และความสุข
-เป๋าฮื้อแห้ง หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี
-สลัดปลาสด หมายถึง จะนำมาซึ่งโชคดี
-จี้ไช่
สาร่ายดูคล้ายเส้นผม (ผมเทวดา) หมายถึง จะนำความความร่ำรวยมาสู่ครอบครัว

และเป็นธรรมดาเสื้อผ้าที่ใส่ "สีแดง" (ชุดแดงต้องแรงไว้ก่อน เพลงนะครับเพลง) ถือเป็นสีที่เป็นมงคลเป็นการไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป และการใส่สีดำ หรือสีขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกันจนเช้า เพื่อรอวันใหม่ และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงใตแต่ละปี

     "อังเปา" ซึ่งหมายถึง กระเป๋าแดง เป็นการให้เงินให้ทองเด็กๆ และผู้เยาว์ที่ยังไม่ได้แต่งงานในซองสีแดง การฉลองวันตรุษจีนสิ้นสุดลงในงานแสดงโคมไฟ และแต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ การอวยพร ความสงบ และความสุขทุกคน
อาหารไหว้เจ้า
     ใน วันฉลองตรุษจีนอาหารจะถูกรับประทานมากกว่าวันไหนๆ อาหารชนิดต่างๆ ที่ปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูง รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียไปแล้ว ในวันตรุษครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่ เรียกว่า "ไช่" หลายคนก็เชื่อว่าผักต่างๆ มีความหมายที่ เป็น มงคล เช่น

เม็ดบัว
- การมีลูกหลานที่เป็นชาย
เกาลัด - เงิน
สาหร่ายดำ - ความร่ำรวย
เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง - เต็มอิ่มกับความ ร่ำรวย และความสุข (เต้าหู้ที่ทำจากถั่วสดนั้น จะไม่นำมารวมกับอาหารในวันนี้ เนื่องจากสีขาวซึ่งเป็นสีแห่งโชคร้ายสำหรับปีใหม่ และ หมายถึงการไว้ทุกข์)
หน่อไม้ -
ให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข ปลาทั้งตัว - เพื่อเป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกัน และความอุดมสมบรูณ์
เส้นหมี่ - ชีวิตที่ยืนยาว
     ทางตอนใต้ของจีน อาหารที่นิยมที่สุด และทานมากที่สุดได้แก่
ข้าวเหนียวหวานนึ่ง บ๊ะจ่างหวาน ซึ่งถือเป็นอาหารอันโอชะ
     ทางเหนือ หมั่นโถ และติ่มซำ เป็นอาหารที่นิยม อาหารจำนวนมากที่ถูกตระเตรียมในเทศกาลนี้ มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ และความร่ำรวยรุ่งเรือง
 
ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน
     ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบ หรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล และมีความหมายเป็นนัย และคำว่า "สี่" ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมาในวันนี้ ต้องไม่มีการพูดถึงความตาย หรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสาง เป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมี แต่เรื่องอนาคต และการเริ่มต้นใหม่ในปีใหม่ หรือหาก ร้องไห้ในวันปีใหม่ ก็จะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฎิบัติตัวไม่ดี ผู้ใหญ่ก็จะอดทน ที่จะไม่ดุด่า หรือต่อว่าสั่งสอน
     การแต่งกายสะอาด ในวันตรุษจีน และไม่ควรสระผมเพราะนั้นจะ หมายถึง เราชะล้างความโชคดีของเราออกไป "สีแดง" เป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ ซึ่งจะนำความสว่าง และเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์ และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดี หรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี และจะมีการแจก "อังเปา" ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วยธนบัตรใหม่ เพื่อความโชคดี
     วัน ตรุษจีน กับความเชื่ออื่นๆ สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อน หรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้าน และทางที่จะไปเพื่อความเป็นสิริมงคล
     บุคคล แรก ที่พบ พร้อมคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลง หรือเห็นนกสีแดง, นกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี
     การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษ ถือเป็นโชคร้าย ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วย ก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขกไม่ควรใช้มีด หรือกรรไกรในวันตรุษจีน เพราะเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดีให้หายไปทั้งปี
     ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่า ชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมา แต่ทุกคนก็ยังคงยึดถือ และปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และรากเหง้าทางวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีน หรือลูกหลานเชื้อสายจีน ตระหนักดีว่าการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมแต่เก่าก่อน เป็นการแสดงถึงความเป็น ครอบครัว และเคารพบรรพชนของตนเอง

15 วันแห่งการฉลองตรุษจีน
     วัน ที่ 1 ของปีใหม่ เป็นการต้อนรับเทวดาแห่งสวรรค์ และโลก หลายคนงดทานเนื้อ ในวันนี้เชื่อกันว่าจะเป็นการต่ออายุ และนำมาซึ่งความสุขในชีวิตให้กับตนเอง
     วันที่ 2 ชาวจีนจะไหว้บรรพชน รวมถึงเทวดาทั้งหลาย และจะดีเป็นพิเศษกับสุนัข
     วันที่ 3-4 เป็นวันของบุตรเขยที่จะต้องทำความเคารพแก่ พ่อตา แม่ยาย ของตน
     วันที่ 5 เรียกว่า พูวู ซึ่งวันนี้ทุกคนจะอยู่กับบ้าน เพื่อต้อนรับการมาเยือนของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย
     วันที่ 6 ชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง-เพื่อนฝูง พร้อมทั้งไปวัดสวดมนต์ เพื่อความร่ำรวย และความสุข
     วัน ที่ 7 ของตุรุษจีนเป็นวันที่ชาวไร่-ชาวนาชาวจีน นำเอาผลผลิตของตนออกมาทำน้ำที่ทำมาจากผักเจ็ดชนิด เพื่อฉลองวันนี้วันที่เจ็ดถือเป็นวันเกิดของมนุษย์ และอาหารในวันนี้จะเป็น หมี่ซั่ว-กินเพื่อชีวิตที่ยาวนาน และปลาดิบ-กินเพื่อความสำเร็จ
     วัน ที่ 8 ชาวฟูเจี้ยน จะมีการทานอาหารร่วมกันกับครอบครอบอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนทุกคนจะสวดมนต์ของพรจาก เทียนกง เทพแห่งสวรรค์
     วันที่ 9 สวดมนต์ไหว้พระ และถวายอาหารแก่ เง็กเซียนฮ่องเต้
     วันที่ 10-12 เป็นวันของเพื่อน และญาติๆ  ซึ่งเชื้อเชิญมาทานอาหารเย็น

     วันที่ 13 ถือเป็นวันที่ควรทานข้าวธรรมดา กับผักดอง ถือเป็นการชำระล้างร่างกาย

     วันที่ 14 เป็นวันที่เตรียมงานฉลองโคมไฟ

     วันที่ 15 คืนแห่งการฉลองโคมไฟ วันตรุษจีน

คำอวยพรซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้ หรือ ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ > ปีใหม่ขอให้ทุกอย่างสมหวัง-ปีใหม่ขอให้ร่ำรวย
เจาไฉจิ้นเป้า > เงินทองไหลมาเทมา
ฟู๋ลู่ซวงฉวน > เงินทอง อำนาจ วาสนา
จู้หนี่เจี้ยนคัง >
ขอให้สุขภาพแข็งแรง
จู้หนี่ฉางโส่ว
> ขอให้อายุยืนยาว
จู้หนี่ซุ่นลี่ > ขอให้ประสบความสำเร็จ


ที่มา:บุปผาหยก
..เหลือขุนเขาแมกไม้ ไยต้องกลัวไร้ฟืนไฟ
ไม่มีผืนดินใด ที่ยืนแล้วสุขใจ เหมือนผืนดินของเรา
เดินทางร่วมกันหมื่นลี้ สุดท้ายก็ต้องจากกัน
==========================================================
ตรุษจีน หรือ เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ (ตัวเต็ม: 春節, ตัวย่อ: 春节, พินอิน: Chūnjíe ชุนเจี๋ย) หรือ ขึ้นปีเพาะปลูกใหม่ (ตัวเต็ม: 農曆新年, ตัวย่อ: 农历新年, พินอิน: Nónglì Xīnnián หนงลี่ ซินเหนียน) และยังรู้จักกันในนาม วันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามประเพณีของชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่และชาวจีนโพ้นทะเลทั่วโลก เทศกาลนี้เริ่มต้นในวันที่ 1 เดือน 1 ของปีตามจันทรคติ (正月 พินอิน: zhèng yuè เจิ้งเยฺว่) และสิ้นสุดในวันที่ 15 ซึ่งจะเป็นเทศกาลประดับโคมไฟ (ตัวเต็ม: 元宵節, ตัวย่อ: 元宵节, พินอิน: yuán xiāo jié หยวนเซียวเจี๋ย)
คืนก่อนวันตรุษจีน ตามภาษาจีนกลางเรียกว่า 除夕 (พินอิน: Chúxì ฉูซี่) หมายถึงการผลัดเปลี่ยนยามค่ำคืน
ในวันตรุษจีนจะมีการเฉลิมฉลองทั่วโลกโดยเฉพาะชุมชนเชื้อสายจีนขนาดใหญ่ และตรุษจีนถือเป็นวันหยุดที่สำคัญมากช่วงหนึ่งของชาวจีน และยังแผ่อิทธิพลไปถึงการฉลองปีใหม่ของชนชาติที่อยู่รายรอบ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เมี่ยน ม้ง มองโกเลีย เวียดนาม ทิเบต เนปาล และภูฐาน สำหรับชาวจีนที่อาศัยอยู่ต่างถิ่นกันก็จะมีประเพณีเฉลิมฉลองต่างกันไป ในประเทศไทย

ตรุษจีนในประเทศไทย

ชาวไทยเชื้อสายจีนจะถือประเพณีปฏิบัติอยู่ 3 วัน คือวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว
  • วันจ่าย คือวันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ในตอนค่ำจะมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้าที่ (地主爺 / 地主爷 ตี่จู้เอี๊ย) ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการบูชาของเจ้าบ้าน หลังจากที่ได้ไหว้อัญเชิญขึ้นสวรรค์เมื่อ 4 วันที่แล้ว
    • ตอนเช้ามืดจะไหว้ "ป้ายเล่าเอี๊ย" (拜老爺 / 拜老爷) เป็นการไหว้เทพเจ้าต่างๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง (ซาแซ ซำเช้ง) ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง (โหงวแซ) เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
    • ตอนสาย จะไหว้ "ป้ายแป๋บ้อ" (拜父母) คือการไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เ
กินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย ซาแซ อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว
    • ตอนบ่าย จะไหว้ "ป้ายฮ่อเฮียตี๋" (拜好兄弟) เป็นการไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล
  • วันเที่ยว หรือ วันถือ คือวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันที่หนึ่ง (初一 ชิวอิก) ของเดือนที่หนึ่งของปี วันนี้ชาวจีนจะถือธรรมเนียมโบราณที่ยังปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงปัจจุบันคือ "ป้ายเจีย" เป็นการไหว้ขอพรและอวยพรจากญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพรัก โดยนำส้มสีทองไปมอบให้ เหตุที่ให้ส้มก็เพราะส้มออกเสียงภาษาแต้จิ๋วว่า "กิก" หรือ ภาษาฮกเกี้ยน "ก้าม"(橘) ซึ่งไปพ้องกับคำว่าความสุขหรือโชคลาภ (吉) [1] เพราะฉะนั้นการให้ส้มจึงเหมือนนำความสุขหรือโชคลาภไปให้ จะมอบส้มจำนวน 4 ผล ห่อด้วยผ้าเช็ดหน้าของผู้ชาย เหตุที่เรียกวันนี้ว่าวันถือคือ เป็นวันที่ชาวจีนถือว่าเป็นสิริมงคล งดการทำบาป จะมีคติถือบางอย่าง เช่น ไม่พูดจาไม่ดีต่อกัน ไม่ทวงหนี้กัน ไม่จับไม้กวาด และจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่แล้วออกเยี่ยมอวยพรและพักผ่อนนอกบ้าน เป็นต้น

 ตรุษจีนในภูเก็ต

ชาวภูเก็ตเชื้อสายจีน โดยส่วนมากเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนบ้าบ๋า จะมีระยะวันตรุษจีนทั้งสิ้นรวม 9 วันนับตั้งแต่ขึ้นปีใหม่จะต่างกับชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งวันตรุษจีนจะสิ้นสุดลงในวันที่ 7 โดยวันตรุษจีนของชาวภูเก็ตจะสิ้นสุดลงเมื่อหลังเที่ยงคืนของวันที่ 9 หรือ วันป่ายทีก้องไหว้เทวดา และ จะถือประเพณีปฏิบัติไหว้อยู่ 6 วัน ได้แก่ก่อนตรุษจีนไหว้ 2 วัน และ หลังตรุษจีนไหว้ 4 วัน คือ
  • วันส่งเทพเจ้าเตาไฟขึ้นสวรรค์
    • ในวันที่ 24 ค่ำ เดือน 12 จ้าวฮุ่นกงเสด็จขึ้นสวรรค์เพื่อเข้าเฝ้าหยกอ๋องซ่งเต้ เพื่อกราบทูลเรื่องราวต่างๆภายในหนึ่งปีของเจ้าบ้านทั้งดีและชั่วจามบัญชีที่ได้จดบันทึก
      • ภาคเช้า เจ้าบ้านเตรียมผลไม้ 3 -7 อย่าง เพื่อสักการะเทพเจ้าทั้งสามแห่งโดยเฉพาะหน้าเตาไฟในครัวเรือนจ้าวฮุ่นกง
  • วันไหว้บรรพชน
    • คือวันสุดท้ายของเดือน 12 บางตำนานกล่าวว่าเทพเจ้าทั้งปวงจะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ในช่วง วันที่ 28 -30 จะจัดเครื่องเซ่นไหว้ตามจุดดังนี่
      • ทีก้อง หรือ หยกอ๋องซ่งเต้ และเทพเจ้าทั้งบ้าน บ้านของคนจีนฮกเกี้ยนภูเก็ต จะมีป้ายและที่ปักธูปเทียนอยู่ทางซ้ายมือของหน้าบ้าน
      • เทพเจ้าประจำบ้าน หรือ เทพเจ้าประจำตระกูล ส่วนใหญ่จะอยู่ตรงห้องโถ่งของหน้าบ้าน เป็นเทพเจ้าประจำบ้านที่นับถือกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
      • บรรพชน จ้อกง จ้อม่า จ้อกงโป๋ บรพพบุรุษที่ล่วงลับ
      • จ้าวอ๋อง หรือ จ้าวฮุ่นก้อง คือเ เทพเจ้าครัวหรือ เทพเจ้าเตาไฟ
      • โฮ่วเหี่ยวเต่ คือ ไหว้บรรดาวิญญาณผีไม่มีญาติ
      • หมึงสิน คือ ไหว้เทพเจ้าประจำประตูบ้าน หรือ ทวารบาล บ้าน
    • ช่วงเวลาจะเซ่นไหว้ มี 3 เวลาคือ
      • เวลาเช้า ประมาณ 7 - 8 นาฬิกา ไหว้ทีก้อง เทพเจ้าบ้าน และจ้าวฮุ่นก้อง
      • เวลา ประมาณ 11 นาฬิกา ถึง ก่อนเทียงวัน ไหว้บรรพบุรุษ จ้อกง จ้อม่า และบรรพชน
      • เวลา ประมาณ 15 -16 นาฬิกา ไหว้โฮ่งเฮี่ยวเต่ บรรดาผีไม่มีญาติ
    • เครื่องเซ่นไหว้ตามแบบของชาวจีนฮกเกี้ยน
      • เวลาเช้าไหว้ทั้ง 3 แห่งดั้งนี้
        • ทีก้อง *(นิยมไหว้ในค่ำคืน โช่ยแปะก่อนที่จะเข้าวันโช่ยเก้า)
          • หมูต้ม 1 ชิ้น
          • หมี่เหลืองดิบ
          • ปูต้ม
          • กุ้งต้ม
          • หมึกแห้ง
          • สุราขาวจีน
          • เทียนก้องกิม(กระดาษทองฮกเกี้ยนแผ่นใหญ่)
        • เทพเจ้าประจำบ้าน หรือ ประจำตระกูล
          • หัวหมู 1 หัว
          • หมี่เหลืองดิบ
          • ปูต้ม
          • กุ้งต้ม
          • หมึกแห้ง
          • สุราขาวจีน
          • ไก่ต้มมีหัว
        • เทพเจ้าเตาไฟ หรือ จ้าวฮุ่นก้อง
          • หมี่เหลืองดิบ
          • ปูต้ม
          • กุ้งต้ม
          • หมึกแห้ง
          • สุราขาวจีน
            • อาหารที่ไหว้เสร็จจากช่วงเช้าทุกชนิดนำไปประกอบอาหารเพื่อนไหว้ในช่วง บ่าย และเย็นต่อไป
      • เวลาบ่ายไหว้ จ้อกง จ้อม่า บรรพชน
        • ผลไม้ 3 - 7 ชนิด
        • ขนมหวาน
          • ตี่โก้ย (ขนมเข่ง )
          • ฮวดโก้ย (ขนมถ้วยฟู)
          • อั้งกู้โก้ย (ขนมเต่า)
          • บีโก้ (ข้าวเหนียวดำกวน)
          • แป๊ะทงโก๊
          • ก่าวเตี่ยนโก้ย (ขนมชั้น)
        • อาหารคาว
          • ผัดบังกวน (ผัดมันแกว)
          • โอต้าว (หอยทอดฮกเกี้ยน หารับประทานได้ที่ภูเก็ต)
          • ผัดบีฮุยะ (ข้าวเหนียวผัดกับเลือดหมูและกุ้ยช่าย)
          • ปลาทอดมีหัวมีหาง 1 ตัว
          • ต้าวอิ่วบ๊ะ (หมูผัดซีอิ๋ว)
          • ทึ่งบะกู๊ดเกี่ยมฉ่าย (ต้มจืดผักกาดดองซี่โคร่งหมู)
          • แกงเผ็ดไก้ใส่มันฝรั่ง
          • ผัดผัก ประกอบด้วย ซวนน่า กะหล่ำปลี ก่าเป๊ก
          • โปเปี๊ยะสด
          • โลบะ พร้อมน้ำจิ้ม
          • ซำเซ่ง;หง่อเซ่ง (เนื้อสัตว์ 3-5 ชนิด)
          • ข้าวสวย 5 ถ้วย พร้อมตะเกียบ
          • เต๋ (น้ำชา) 5 จอก
          • จุ๊ย (น้ำเปล่า) 1 แก้ว
          • สุราขาว 5 จอก
      • เวลาเย็นไหว้ โฮ่วเฮี่ยวเต่
          • องุ่น (ภาษาฮกเกี้ยน โป่โต๋)
          • แอปเปิล (ภาษาฮกเกี้ยน เป่งโก้)
          • สับปะรด (ภาษาฮกเกี้ยน อ่องหลาย)
          • ของไหว้จากช่วงเช้าแล้วแต่เจ้าบ้านจะนำไปทำเป็นอะไร
  • ไหว้วันขึ้นปีใหม่
    • วันที่ 1 ค่ำ เดือน 1 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ช่วงเช้าเรียกว่า ป้ายเฉ่งเต๋ ด้วยการนำผลไม่มาไหว้เทพเจ้าประจำบ้าน
  • วันรับเสด็จจ้าวฮุ่นก้องเทพเจ้าเตาไฟ
    • ในที่ 4 ค่ำ เดือน 1 จะทำการ เชี้ยสิน เชิญพระจ้าวฮุ่นก้องกลับมาอยู่ยังบ้านในครัวเช่นเดิม โดยไหว้ตอนเช้า ของเซ่นไหว้ดังนี่
      • ผลไม้
      • เต่เหลี่ยว (จันอับ ของฮกเกี้ยนกับแต้จิ๋วจะมีเครื่องประกอบไม่เหมือนกัน)
      • โอต้าว (เพื่อเป็นกาวติดเงินติดทองที่จ้าวฮุ่นก้องนำมาให้จากสวรรค์)
      • น้ำชา
      • กระดาษไหว้เจ้า
  • วันป้ายจ่ายสินเอี๋ย หรือ วันไหว้เทพเจ้าไฉสิ่งเอี้ย
    • วันที่ 5 ค่ำ เดือน 1 เทพเจ้าแห่งโชคลาภจะเสด็จจากสวรรค์ตามฤกษ์ยามของแต่ละปี เพื่อลงมาประทานโชคลาภ
  • วันป้ายทีก้องแซ (拜天公) ไหว้เทวดา วันประสูติหยกอ๋องซ่งเต้
    • วัน ไหว้เทวดา ซึ่งเป็นวันที่สืบเนื่องต่อจากวันตรุษจีนเพียง 8 วัน หรือที่ชาวจีนเรียกว่า เก้าโหง็ย-โช่ยเก้า ถี่ก้งแซ้ซ่ง ซึ่งชาวจีนถือว่าเป็นวันเกิดของ หยกอ๋องซ่งเต้ เทพผู้เป็นใหญ่บนสรวงสวรรค์ที่ชาวจีนให้ความเคารพบูชาซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้ กัน โดยในวันไหว้เทวดาของชาวจีนจะนิยมถือปฏิบัติกันในวันขึ้น 9 ค่ำ และสิ่งที่ขาดมิได้ในวันนั้น คือเครื่องเซ่นไหว้ที่นำมาประกอบในพิธีบูชาเทวดา หยกอ๋องซ่งเต้ ซึ่งมีหลายรายการด้วยกันดังรายละเอียดต่อไปนี้

ประเพณีปฏิบัติ

  • สัญลักษณ์อย่างหนึ่งของตรุษจีน คือ อั่งเปา (ซองแดง) คือ ซองใส่เงินที่ผู้ใหญ่แล้วจะมอบให้ผู้น้อย และมีการแลกเปลี่ยนกันเอง หรือ หรือจะใช้คำว่า แต๊ะเอีย (ผูกเอว) ที่มาคือในสมัยก่อน เหรียญจะมีรูตรงกลาง ผู้ใหญ่จะร้อยด้วยเชือกสีแดงเป็นพวงๆ และนำมามอบให้เด็ก ๆ ซึ่งจะนำมาผูกเก็บไว้ที่เอว

คำอวยพร

ในตรุษจีน ชาวจีนจะกล่าวคำ ห่ออ่วย หรือคำอวยพรภาษาจีนให้กัน หรือมีการติดห่ออ่วยไว้ตามสถานที่ต่างๆ คำที่นิยมใช้กัน ได้แก่
  • 新年快樂 / 新年快乐 (จีนกลาง: ซินเหนียนไคว่เล่อ) นิยมใช้ในประเทศจีน
  • 過年好 / 过年好 (จีนกลาง: กั้วเหนียนห่าว) ใช้โดยชนพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศจีน วลีนี้ยังหมายถึงวันที่หนึ่งถึงวันที่ห้าของปีใหม่ด้วย
  • 新正如意 新年發財 / 新正如意 新年发财 (แต้จิ๋ว: ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ จีนกลาง: ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย ฮกเกี้ยน:ซินเจี่ยหยู่ลี่ ซินเหนี๋ยนฮวดจ๋าย) แปลว่า ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่
  • 恭喜發財 / 恭喜发财 (จีนกลาง: กงฉี่ฟาฉาย ฮกเกี้ยน: หย่งฮี้ฮวดจ๋าย )
  • 大吉大利 (ฮกเกี้ยน:ตั่วเก็ตตั่วลี่ ) แปลว่า ความมงคลอันยิ่งใหญ่ หรือ ค่าขายได้กำไร
  • 招财进宝 (ฮกเกี้ยน:จ่ายหงวนก้องกิม ) แปลว่า เงินทองไหลมา
  • 金玉满堂 (ฮกเกี้ยน:กิ้มหยกมมั่วต๋อง ) แปลว่า ทองหยกเต็มบ้าน
  • 万事如意 (ฮกเกี้ยน:บ่านสู่หยู่อี่ ) แปลว่า ทุกเรื่องสมปรารถนา
  • 福壽萬萬年 / 福寿万万年 (ฮกเกี้ยน:ฮกซิ่วบันบั่นนี่ จีนกลาง: ฝูเชี่ยวหวันวันเลี่ยน แปลว่า อายุยืนพันๆปี )
  • เกียโฮ่ซินนี้ ซินนี้ตั้วถั่น แปลว่า สวัสดีปีใหม่ ขอให้ร่ำรวยๆ อีกฝ่ายก็จะกล่าวตอบว่า ตั่งตังยู่อี่ แปลว่า ขอให้สุขสมหวังเช่นกัน
  • ตั๋วถั่นฉี่ ในภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า ร่ำรวยไม่เสื่อมคลาย
  • โฮ่อุ๊นคิ ในภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า ทุกความสมหวังเป็นจริง
  • เป๋งอิ่วเตียวคิ ในภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า เพื่อนมิตรมีสุข
  • หลายโฮ่ไซ่ ในภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า ความดีเข้ามา

0 comments:

Post a Comment