Tuesday, January 17, 2012

คลังชงปรับค่าครองชีพขรก.แทนขึ้นเงินเดือน1.5หมื่น

นโยบายเศรษฐกิจ
คลังชงรัฐบาลใหม่อนุมัติแผนปรับค่าครองชีพ แทนการขึ้นเงินเดือน ข้าราชการ-ลูกจ้างรับประโยชน์ 2.77 แสนคน วุฒิปริญญาตรีขึ้นไปมีรายได้รวม 15,000 บาทต่อเดือน ชี้ไม่ให้เป็นภาระงบประมาณมากเกินไป คาดต้องจัดงบประมาณเพิ่มปีละ 15,240 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมบัญชีกลางได้เตรียมเสนอแผนการปรับขึ้นรายได้แก่บรรดาข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานประจำที่มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไปและมีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือนให้มีรายได้เป็น 15,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ได้พิจารณาตามนโยบายที่หาเสียงไว้
โดยแผนที่ว่านี้จะมีการปรับเพิ่มค่าครองชีพตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2554 เพื่อให้ค่าครองชีพบวกกับเงินเดือนรวมกันแล้วเป็นมีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน โดยที่ไม่ต้องปรับขึ้นอัตราเงินเดือน
อย่างไรก็ตาม หากเพิ่มในลักษณะของการปรับเพิ่มค่าครองชีพ จะเป็นภาระงบประมาณเฉพาะในส่วนที่เป็นเงินเพิ่มแต่ละเดือน เมื่อไหร่ที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนถึง 15,000 บาทต่อเดือนแล้ว ก็จะไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มส่วนนี้ วิธีการดังกล่าวสามารถทำได้รวดเร็ว โดยการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขระเบียบการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว
แหล่งข่าว กล่าวว่า ยังมีอีกวิธี คือกรณีเพิ่มในลักษณะการปรับฐานเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ ซึ่งจะต้องมีการปรับทั้งระบบให้เกิดความเท่าเทียมกัน กรณีนี้นอกจากเป็นภาระงบประมาณที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนแล้ว จะกระทบต่อการคำนวณเงินบำเหน็จบำนาญด้วย ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณในระยะยาว ที่จะต้องคำนวณภาระงบประมาณในภาพรวมทั้งหมดอีกครั้งด้วย วิธีนี้จะต้องมีการแก้ไขพระราชกฤษฎีกาฯเกี่ยวกับเงินเดือน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบ สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
เพิ่มภาระงบปีละ 1.5 หมื่นล้าน
สำหรับแนวทางการเพิ่มค่าครองชีพ เพื่อให้รายได้เพิ่มเป็น 15,000 บาทต่อเดือนนั้น ภาครัฐจะมีรายจ่ายด้านงบประมาณเพิ่มขึ้นอีกประมาณปีละ 15,240 ล้านบาท โดยคำนวณจากจำนวนข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานประจำวุฒิปริญญาตรีขึ้นไปที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่นับรวมบุคลากรขององค์กรอิสระ หน่วยงานศาลและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคลากรที่มีการบริหารจัดการด้านบุคลากรโดยหน่วยงานเอง
โดยข้าราชการและลูกจ้าง วุฒิปริญญาตรีขึ้นไป ที่ได้รับเงินเดือน รวมเงินเพิ่มค่าครองชีพแล้วไม่ถึง 15,000 บาท มีจำนวนทั้งสิ้น 277,151 คน จะใช้งบประมาณเพิ่มเดือนละ 1,100 ล้านบาท หรือปีละ 13,200 ล้านบาท
ชี้ช่วยเพิ่มรายได้ ขรก.สูงถึง 46%
นอกจากนี้ ยังมีข้าราชการปริญญาตรีที่จะบรรจุใหม่ในปี 2555 เพื่อทดแทนข้าราชการที่เกษียณอายุอีกจำนวน 28,199 คน ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเดือนละ 170 ล้านบาท หรือปีละ 2,040 ล้านบาท
การปรับขึ้นรายได้รอบนี้ ถือว่าปรับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรือราว 46% จากฐานอัตราเงินเดือนปัจจุบันประมาณเดือนละ 9,000 บาท เป็น 15,000 บาท ก็ยอมรับได้ เพราะทุกวันนี้ค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้รายได้ที่มีอยู่ไม่เพียงพอ เมื่อปรับแล้วจะกระทบต่อภาระผูกพันงบประมาณ แต่ก็ยังดีกว่าการปรับขึ้นอัตราเงินเดือน เมื่อมีการปรับฐานให้คนกลุ่มหนึ่ง ต้องมีการปรับขึ้นทั้งระบบ ภาครัฐก็จะสูญเสียงบประมาณมากขึ้น แหล่งข่าว กล่าว
แหล่งข่าว ยอมรับว่าแผนการปรับเพิ่มรายได้เป็น 15,000 บาทต่อเดือน อาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะใกล้ เพราะที่ผ่านมาการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างสำหรับข้าราชการ มักจะเป็นฐานในการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจทั้งระบบ ตรงนี้จะเป็นสาเหตุหนึ่งของอัตราเงินเฟ้อ
ปัญหาที่ตามมาถ้ามีการปรับเงินเดือนข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจเขาก็จะเรียกร้องเหมือนกัน ถ้าต้องปรับในอัตราเท่ากัน ถือว่าเยอะมากเพราะฐานรัฐวิสาหกิจสูงอยู่แล้ว ก็จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อตามมา แหล่งข่าว กล่าว
สุชาติ หนุนใช้ระบบปรับค่าครองชีพ
นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ทีมนโยบายเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ข้อเสนอการปรับเงินเดือนข้าราชการที่จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทต่อเดือน โดยจ่ายเป็นเงินค่าครองชีพชั่วคราวนั้น เป็นข้อเสนอหนึ่งที่พรรคจะนำไปพิจารณา หากนายกรัฐมนตรีคนใหม่เลือกที่ดำเนินการตามวิธีดังกล่าว ถือว่าอยู่ในเงื่อนไขที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ ส่วนระยะยาวจะต้องปรับเดือนข้าราชการทั้งระบบ เพราะหากกดรายได้ของคนในประเทศให้ต่ำอยู่อย่างนี้ จะไม่สามารถสร้างกำลังซื้อให้กับคนในประเทศได้
ผมเสนอให้มีการทำเวิร์คชอป การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 300 บาทต่อวัน ส่วนการปรับเงินเดือนข้าราชการเป็น 15,000 ต่อเดือน จะมีการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องว่าจะปรับแบบใด คือ ปรับบัญชีเงินเดือนทั้งระบบเลย ซึ่งอาจต้องใช้เวลาบ้าง เพราะต้องมีการแก้กฎหมาย หรืออาจใช้วิธีการเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนายกฯ คนใหม่ ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่ไปจะบอกว่าจะเลือกแนวทางไหน เพราะตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งรัฐบาลเลย นายสุชาติกล่าว
นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดแนวทางการปรับเงินเดือนข้าราชการ ตามข้อเสนอของกรมบัญชีกลาง ต้องขอดูในรายละเอียดอีกครั้ง แต่เป้าหมายของพรรค คือ ต้องการให้คนที่จบปริญญาตรี มีรายได้รวม 15,000 บาทต่อเดือน ข้อเสนอของกรมบัญชีกลางก็เป็นข้อเสนอเพิ่มเติมที่พรรคจะนำมาพิจารณาเช่นกัน ต่อไปต้องปรับระบบผลตอบแทนให้คนจบปริญญาตรีมีรายได้ 15,000 บาทอย่างถาวร
เอกชนห่วงค่าจ้าง 300 บาทดันต้นทุนพุ่ง
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทย ว่า เรื่องนี้รู้สึกเป็นห่วงมาก เพราะภาคเอกชนในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศจำนวนมากกังวลว่า จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่จะได้รับผลกระทบหนัก จนอาจต้องลดแรงงาน และล้มเลิกกิจการได้
เท่าที่คุยกับหอการค้าญี่ปุ่น บอกเลยว่า บริษัทรถยนต์จากญี่ปุ่น จ่ายค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาทอยู่แล้ว แต่เขาเกรงว่า ถ้าขึ้นค่าแรงทันที 300 บาทจะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งส่วนมากเป็นเอสเอ็มอี และอาจทำให้กลุ่มนี้ต้องล้มหายตายจาก และบริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นอาจต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากแหล่งอื่นแทน รวมทั้งอาจย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น เช่น อินโดนีเซีย เพราะมีค่าแรงถูกกว่าไทยมาก นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการในประเทศ ได้รับผลกระทบแล้ว ยังจะทำให้การลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศไม่เข้ามาลงทุนในไทยเพราะไม่มีความคุ้มค่า
ขณะนี้หอการค้าไทย ได้มอบหมายให้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินการสำรวจสมาชิกหอการค้าไทย ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ และเอสเอ็มอี ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากมีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาททันที รวมถึงแนวทางที่จะให้รัฐบาลช่วยเหลือ เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ได้ไปหารือกับรัฐบาลใหม่ เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว หรือหาแนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมมากกว่านี้

0 comments:

Post a Comment