โครงการส่งเสริมคน รักการอ่าน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
การ สร้างให้คนมีวัฒนธรรมการอ่าน อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับปัญหากรุงเทพฯ ในประเด็นอื่นที่เห็นได้ชัดเจนว่า จำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขหรือพัฒนา แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากสังคมไร้ซึ่งวัฒนธรรมการอ่าน เพราะไม่ได้รับการปลูกฝัง แน่นอนว่าจะกลายเป็น “ปัญหาใหญ่” ที่ส่งผลร้ายแรงกว่าปัญหาอื่นในอนาคตได้
ประกอบ กับกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา ยิ่งจำเป็นที่หากผู้คนรักการอ่านเป็นฐาน ย่อมจะส่งผลต่อการรับข้อมูลข่าวสาร การเรียนรู้ และการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมต่าง ๆ อันส่งผลต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คนเมืองหลวง รวมถึงความก้าวหน้าในการพัฒนากรุงเทพฯ ด้านต่าง ๆ
การ ส่งเสริมและพัฒนาให้คน กทม. รักการอ่าน กรุงเทพมหานครไม่จำเป็นต้องเป็นหน่วยงานดำเนินการเองทั้งหมด แต่ควรทำในลักษณะของความร่วมมือและกระจายความรับผิดชอบร่วมดำเนินการกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาชน ตัวอย่างโครงการ อาทิ
จัด “ชุดหนังสือ” ที่ควรอ่าน
การทำให้คนเกิดความรู้สึกต้องการอ่านหนังสือ ควรช่วยให้เขาเห็น “เป้าหมาย” ว่า หนังสืออะไรบ้างที่เขาควรอ่าน ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้มีการจัดชุดหนังสือสำหรับคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้สามารถเลือกอ่านได้อย่างมีเป้าหมาย เช่น จัดชุดหนังสือที่ควรอ่านสำหรับประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ว่า ควรอ่านอะไร และอ่านได้ที่ใด โดย กทม. อาจขอความร่วมมือกับสมาคมห้องสมุด ครูอาจารย์ ผู้ผลิตสิ่งพิมพ์ จัดทำคู่มือ รายชื่อหนังสือที่ส่งเสริมชีวิตคนแต่ละอาชีพ โดยรวบรวมรายชื่อหนังสือที่เป็นเรื่องคล้ายกัน จัดเป็นชุด เช่น ชุดบริหารเวลา ชุดเตรียมสอบ มาจัดพิมพ์ พร้อมแผนงานในการอ่าน ที่บอกแนวทางในการอ่านอย่างเป็นระบบ เพื่อให้คนได้วางแผนด้วยตนเองว่าจะอ่านหนังสือจบเมื่อไร และจะอ่านชุดอะไรต่อ
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้คนอ่านหนังสืออย่างสมดุล โดยการอ่านหนังสือครบทั้ง 2 ประเภทได้แก่ หนังสือที่ตนเองชอบ เป็นหนังสือที่ให้ความสุขเมื่อได้อ่าน อาจเป็นหนังสือประเภทใดได้ และ หนังสือที่ตนเองต้องอ่าน คือหนังสือที่สนับสนุนความสำเร็จของชีวิต โดยลดการอ่านด้านบันเทิงลงบ้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้อ่านหนังสือครบถ้วนทุกด้าน เพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง
จัด “หนังสือเป็นของขวัญ”
โครงการ หนึ่งที่สามารถทำได้และจะช่วยให้คนในเมืองเห็นคุณค่าและประโยชน์ของการอ่าน นั่นคือ การส่งเสริมให้คนมอบหนังสือเป็นของขวัญในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันเกิด แสดงความยินดีที่ได้เลื่อนขั้น เปิดกิจการใหม่ โดยร่วมมือกับร้านหนังสือทั่วกรุงเทพฯ มอบส่วนลดพิเศษ เป็นมหกรรมลดราคาพร้อมกัน เมื่อมีเทศกาลสำคัญหรือให้ลูกค้าที่ครบรอบวันเกิดมีสิทธิพิเศษในการซื้อ หนังสือราคาลดพิเศษ และประชาสัมพันธ์ตามสื่อในการเปลี่ยนค่านิยมการมอบของขวัญเสริมสร้างปัญญา และคุณภาพชีวิต
จัดโครงการ “บริหารเวลาในการอ่านหนังสือ”
หน่วย งานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนเห็นประโยชน์ของการใช้เวลาเล็ก น้อยเพื่ออ่านหนังสือ เช่น ชี้ให้คนรู้ว่าหากเราใช้เวลาวันละ 15 นาทีในการอ่านหนังสือ ในหนึ่งปีเราสามารถอ่านหนังสือได้เกือบ 17 เล่ม หรือเทียบเท่ากับสถิติการอ่านหนังสือของคนสิงคโปร์ และเราจะได้รับความรู้มากมายจากการอ่าน แนวทางอาจขอความร่วมมือจากสำนักงานต่าง ๆ เริ่มจากสำนักงานในสังกัด กทม. ในการกำหนดเวลาเจาะจงในการอ่านหนังสือ วันละ 15 นาที ให้พนักงานอ่านพร้อมกัน เพื่อกระตุ้นให้มีเวลาในการอ่านอย่างจริงจังในทุก ๆ วัน และส่งเสริมให้ทุกโรงเรียน ทุกหน่วยงานมีการประชาสัมพันธ์และให้เวลาอ่านหนังสืออย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการประชาสัมพันธ์หนังสือน่าอ่าน เปิดโอกาสให้มีเวทีพูดคุยหนังสือที่มีประโยชน์ต่าง ๆ เป็นต้น
จัดชั้นหนังสือ “หนึ่งบ้าน หนึ่งชั้นหนังสือ”
โครงการ นี้ตั้งขึ้นเพื่อให้ทุกบ้านมีชั้นหนังสือ หรือมุมอ่านหนังสือ ที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศการใช้เวลาอ่านหนังสือในระดับครอบครัว และเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน นำมาซึ่งความเข้าใจกัน และมีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แนบแน่น ซึ่งจะนำไปสู่การลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ลดภาวะความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน และลดปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้น
กทม. อาจเกื้อหนุนจัดหาตู้ราคาถูกจากฝีมือผู้ต้องขังหรือจากศูนย์ส่งเสริมอาชีพ มาเสนอขายให้กับบ้านที่ต้องการซื้อตู้หนังสือ ซึ่ง กทม.อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนบางส่วน โดยอาศัยเงินจากงบประมาณที่ได้รับ เพื่อให้ประชาชนซื้อหาได้ในราคาที่ไม่แพง พร้อมกันนี้ควรจัดรณรงค์ให้ทุกบ้านอ่านหนังสือเป็นกิจวัตรประจำวัน และได้มีโอกาสใช้เวลาอ่านหนังสือร่วมกัน
จัด “ห้องสมุดเฉพาะทาง” ทั่ว กทม.
การ ส่งเสริมให้เกิดห้องสมุดเพิ่มขึ้น โดยคิดแต่เพียงการมีห้องสมุดและมีหนังสืออะไรก็ได้นั้น อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในลักษณะการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนอยากเข้ามาใช้ บริการ เสนอว่าควรส่งเสริมให้เกิดหรือขยายผลการใช้ห้องสมุดเฉพาะทางให้มากขึ้น เพื่อให้กลุ่มประชาชนที่มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนั้นมีแหล่งค้นคว้า แหล่งที่เขาจะเข้ามาใช้บริการได้ โดยควรส่งเสริมให้เกิดห้องสมุดที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเฉพาะกลุ่ม เช่น ห้องสมุดอาชีพ สำหรับประชาชนที่ต้องการค้นคว้าเกี่ยวกับอาชีพต่าง ๆ ที่ตนสนใจ ห้องสมุดมวยไทย เป็นแหล่งรวบรวมข้อเขียนเกี่ยวกับประวัติมวยไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็นต้น
โครงการ สนับสนุนให้คน กทม. รักการอ่าน ไม่จำเป็นต้องพึ่งเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ แต่ควรกระจายให้หน่วยต่าง ๆ ในสังคมมีส่วนร่วมคิดอย่างสร้างสรรค์ หลากหลาย และผลักดันให้เกิดการสนับสนุนและร่วมมือกันเพื่อเป้าหมายเดียวกัน เพราะหากดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม ผมเชื่อว่า จะสามารถพัฒนาให้คน กทม. รักการอ่านได้ในที่สุด